ยันไม่ได้จับผิดแต่รู้จุดอ่อนเพื่อพัฒนา ต.ค.เปิดตัวอย่างข้อสอบให้ทดลอง
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทดสอบครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตามนโยบาย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการว่า ขณะนี้ได้มีการขยายระดับชั้นของครูที่จะต้องเข้ารับการทดสอบ จากเดิมที่ทดสอบเฉพาะครูสอนคณิต-วิทย์ ชั้น ม.3 เป็นครูคณิต-วิทย์ ระดับชั้น ม.ต้นทั้งหมด คือตั้งแต่ ม.1-3 เนื่องจากครูบางคนสอนมากกว่า 1 ชั้นเรียน สำหรับเนื้อหาที่จะใช้ในการทดสอบจะครอบคลุมเนื้อหาการเรียนรู้ทั้งหมด รวมไปถึงจะดูว่าครูในแต่ละชั้นต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง ตัวข้อสอบจะเน้นแนวความคิดหลายระดับ โดยเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ เพราะความรู้ ความจำ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ แต่การนำไปใช้จะสามารถสร้างกระบวน การคิดวิเคราะห์ ซึ่งเราต้องการให้ครูมีทักษะในด้านนี้มากขึ้น เพราะต้องสอนเด็กให้มีทักษะใหม่ มากกว่าท่องจำ
ผอ.สสวท. กล่าวอีกว่า ส่วนหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการวัดผลการทดสอบ จะวัดจากมาตรฐานการเรียนรู้ในวิชาคณิต-วิทย์จากกรอบที่มีอยู่ โดยเน้นความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่จะต้องนำไปสอนในระดับชั้น ม.ต้นเป็นหลัก ส่วนคะแนนอยู่ในระดับใดถึงจะผ่านเกณฑ์นั้นอยู่ระหว่างพิจารณา แต่จะเป็นเกณฑ์ที่ไม่สูงเกินไป ทั้งนี้ สสวท. ได้เตรียมกรอบเนื้อหา กรอบหลักสูตรที่จะใช้ในการทดสอบไว้แล้ว คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือนนี้และในเดือน ต.ค.นี้ สสวท.จะนำตัวอย่างข้อสอบเผยแพร่ทาง http://www.ipst.ac.th/index.php ให้ครูได้เข้าไปทดลองทำเพื่อสร้างความคุ้นเคย การจัดทดสอบครั้งนี้ ไม่ใช่การจับผิดครู เป็นเพียงการวัดจุดเด่น จุดด้อย ซึ่งครูไม่จำเป็นต้องท่องเนื้อหา เพราะเป็นสิ่งที่ครูสอนอยู่แล้ว และผลการทดสอบจะทำให้รู้ว่าครูแต่ละคนอ่อนในด้านไหน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีหากครูสอบไม่ผ่าน เพราะครูก็จะได้รับการพัฒนาและเน้นอย่างตรงจุด โดยผู้ที่สอบไม่ผ่านจะต้องเข้ารับการอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเข้ารับการทดสอบใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ วิชาคณิตฯ วิทย์ฯ เป็นวิชาหลักในการขับเคลื่อนประเทศและยังเป็นวิชาที่ยากสำหรับเด็ก ดังนั้นเราจึงต้องสร้างครูให้เป็นผู้มีความสามารถ มีกลยุทธ์ วิธีการสอนทำให้เด็กเข้าใจและรู้สึกสนุกกับการเรียน เด็กก็จะรู้สึกอยากเรียนและเรียนไปได้.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ วันที่ 5 กันยายน 2559