"ปลัดศธ." เผยเกณฑ์ใหม่เฟ้น "ผอ.ร.ร." หากประเมินปีแรกไม่ผ่าน จะถูกลดสถานภาพเป็นครูตามเดิม
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม เรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่มีพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของรองผู้อำนวยการ (ผอ.) สถานศึกษา และผอ.สถานศึกษาใหม่ล
โดยหลักเกณฑ์ใหม่ จะต้องให้ได้มาซึ่งผู้ที่มีความเหมาะสม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิและประสบการณ์ ผ่านการเป็นครู หรือศึกษานิเทศก์มาไม่น้อยกว่า 10 ปี มีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี ต่อเนื่องได้ไม่เกิน 8 ปีหรือ 2 วาระ และการดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษาจะไล่ตามขนาดโรงเรียน ตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตามลำดับ เท่ากับว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ในโรงเรียนขนาดกลาง จะต้องมีประสบการณ์ครูและการบริหารโรงเรียนมาไม่น้อยกว่า 14 ปี ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่น้อยกว่า 18 ปี
รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า การสอบคัดเลือกจะดำเนินการเฉพาะตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนขนาดเล็กเท่านั้น โดยเปิดโอกาสให้ครู หรือศึกษานิเทศก์ ที่มีประสบการสอนมาไม่น้อยกว่า 10 ปี สมัครสอบคัดเลือก เมื่อสอบผ่านความรู้ทั่วไป ภาค ก และรู้เฉพาะตำแหน่งภาค ข จะได้รับการขึ้นบัญชีไว้ที่ส่วนกลาง โดยผู้ที่ได้รับการขึ้นบัญชีสามารถเลือกโรงเรียน ที่ต้องการไปเป็นผู้บริหารได้ 4 อันดับ เพื่อให้ กศจ. ในจังหวัดนั้นๆ ทำการคัดเลือกอีกรอบหนึ่ง หากกศจ. เห็นว่า ไม่มีผู้เหมาะสม ก็สามารถกลับไปคัดเลือกจากรายชื่อที่ขึ้นบัญชีไว้ในส่วนกลางได้
ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว จะมีการประเมินผลการทำงานเป็นรายปี ซึ่งประเมินโดย ครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หากไม่ผ่านประเมินก็อาจถูกลดสถานภาพกลับไปเป็นครูผู้สอนตามเดิม ส่วนโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ จะเป็นการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยการประเมินผลการทำงาน และเลื่อนไปตามลำดับ
สำหรับระดับรองผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น จะไม่มีการสอบ แต่ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนคัดเลือกครูที่มีประสบการณ์ สอนไม่ต่ำกว่า 6 ปี ในโรงเรียนของตัวเอง มาดำรงตำแหน่ง จากนี้จะต้องนำหลักเกณฑ์ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมก.ค.ศ. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
“หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนใหม่นี้ จะแก้ปัญหาเรื่องการบริหาร ซึ่งผู้ที่สอบคัดเลือกได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ตั้งแต่อายุน้อย ทำให้ครูที่มีประการณ์ต้องมาคอยสอนงาน สร้างปัญหาให้กับโรงเรียน โดยต่อไป ผู้อำนวยการโรงเรียน จะดำรงตำแหน่ง ได้แห่งละไม่เกิน 8 ปี และจะเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งถือว่า โรงเรียนจะได้ผู้ที่มีประสบการณ์บริหารตามลำดับ” รศ.นพ.กำจรกล่าวในที่สุด
ขอบคุณที่มาจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 03 กันยายน 2559