พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งนายทนง โชติสรยุทธ์ คณะทำงานแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2559 ที่ห้องประชุม MOC เพื่อร่วมวางแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กภายใต้โครงการ "โรงเรียนดีใกล้บ้าน" ตั้งเป้าปีการศึกษา 2560 สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คน จำนวนทั้งสิ้น 827 โรงเรียน จากนั้นจะประเมินผลเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการตามโครงการดังกล่าว สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 20 คนในปีต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประสานภาคเอกชนตามโครงการประชารัฐ ซึ่งมีขีดความสามารถในการจัดทำแผนที่ดิจิตอล ให้ช่วยจัดทำข้อมูลโรงเรียนเพื่อใช้ในการพิจารณาบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่จำนวน 15,000 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โรงเรียนดีใกล้บ้าน”
นายทนง โชติสรยุทธ์ ได้มานำเสนอข้อมูลต่างๆ ของโรงเรียนขนาดเล็กจากแผนที่ดิจิตอล อาทิ โรงเรียนที่จับคู่โรงเรียนขนาดเล็ก ในขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำเสนอแนวทางการสร้างโรงเรียนแม่เหล็กตามโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน พร้อมรายชื่อโรงเรียนแม่เหล็กจำนวนกว่า 300 โรงเรียนที่จะรองรับนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนลงมา
จากการที่ได้รับฟังข้อมูลต่างๆ แล้ว ที่ประชุมได้ขอให้ สพฐ.นำข้อมูลทั้งสองส่วนไปพิจารณาดำเนินการ คือ ข้อมูลโรงเรียนแม่เหล็กที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อมาจับคู่ (Map) กับข้อมูลที่ภาคเอกชนนำเสนอในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จะมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ "โรงเรียนดีใกล้บ้าน" และโรงเรียนที่ต้องบริหารจัดการ มีจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้วางแผนการดำเนินงานได้ทันก่อนการเปิดภาคเรียน
นอกจากนี้ ได้ย้ำเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจของ สพฐ.ด้วยว่า ควรจะจัดสรรงบประมาณไปถึงโรงเรียนแม่เหล็กให้มากที่สุด เพื่อให้โรงเรียนแม่เหล็กปรับปรุงและเตรียมการจัดหาด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและด้านบุคลากรให้มีความพร้อม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ “โรงเรียนที่มีความสมบูรณ์” ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ภาคเอกชนได้นำเสนอในครั้งนี้ เช่น จำนวนครูต้องครบชั้น ต้องมีภารโรง คุณสมบัติของผู้บริหารโรงเรียนจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ สพฐ.จะต้องเตรียมการให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ (ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้)
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้านในช่วงแรกว่า ตั้งเป้าจะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนลงมา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 917 โรงเรียน ยกเว้นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรืออยู่ในเกาะต่างๆ ซึ่งมีประมาณ 90 โรงเรียน ยังคงมีความจำเป็นต้องตั้งอยู่เช่นเดิม และพร้อมจะสนับสนุนการจัดการศึกษาให้มีความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพต่อไป ส่วนโรงเรียนอีก 827 แห่ง จะพยายามให้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดภายในปีการศึกษา 2560 หลังจากนั้นจะประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงแก้ไขในการบริหารจัดการตามโครงการดังกล่าวในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 20 คน ต่อไป
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
1/9/2559
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ 1 กันยายน 2559