สพฐ. ยกเครื่องระบบสกรีนเด็กยากจนใหม่ ช่วยได้ข้อมูลที่เป็นจริง นำร่อง ร.ร. สังกัด สพฐ. กว่า 5,000 แห่ง ให้ครูเก็บข้อมูลเด็กยากจนผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “ทุนยากจน” ช่วยเขตพื้นที่การศึกษา - ศธ. ได้ข้อมูลตามจริง ช่วยเหลือเด็กตรงตามเป้าหมายมากขึ้น
วันนี้ (31 ส.ค.) นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวระหว่างการประชุมผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ เพื่อชี้แจงการดำเนินงาน “โครงการการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ (ระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน)” ว่า จากฐานข้อมูล DMC ในปี 2557 พบว่า เด็กในระบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีทั้งหมด 7.5 ล้านคน มีเด็กยากจนราว 3.5 ล้านคน แบ่งเป็นเด็กประถมศึกษาจำนวน 2.4 ล้านคน และเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 1.2 ล้านคน แต่ สพฐ. สามารถจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ 2,500 ล้านบาท ได้เพียง 1.6 ล้านคนเท่านั้น ที่สำคัญคือ สพฐ. ยังขาดข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริงของผู้เรียน ทำให้เกิดการจัดสรรเงินช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึงและไม่ตรงเป้าหมาย เพราะเดิมใช้รูปแบบการเฉลี่ยงบประมาณในสัดส่วนคงที่
นายสุเทพ กล่าวว่า สพฐ. จึงพยายามหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการอุดหนุนงบประมาณช่วยเหลือเด็กยากจนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าวในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยให้ได้ข้อมูลเด็กยากจนที่ถูกต้องมากขึ้น เพื่อการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวจะนำร่องในโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 5,086 โรงเรียน ใน 40 เขตพื้นที่การศึกษา รวม 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุดรธานี นครพนม นครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี ตรัง และ ภูเก็ต ครอบคลุมเด็กและเยาวชนจำนวน 492,431 คน ซึ่งการที่มีระบบติดตามนักเรียนยากจนที่ดีและถูกต้อง ก็จะช่วยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและส่วนกลางมีข้อมูลที่ถูกต้องในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สพฐ. ได้กำหนดปฏิทินการเก็บข้อมูลคัดกรองนักเรียนยากจนขึ้นใน ก.ย. - ต.ค. 2559 ก่อนนำสู่การขยายผลดำเนินงานครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งสอดรับกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนทุกคน ผ่านนวัตกรรมในการจัดสรรงบประมาณเด็กยากจนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผมหวังว่า โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษานำร่องทั้ง 10 จังหวัดจะให้รับประโยชน์จากข้อมูลที่เกิดขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือคุณครูทุกท่านให้การสนับสนุนในการเก็บข้อมูลเพื่อเป็นต้นแบบในการคัดกรองเด็กยากจนผ่านระบบสารสนเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากข้อเสนอของโครงการวิจัย “บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2551 - 2556” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ ม.ธรรมศาสตร์ ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา อันเป็นสาเหตุสำคัญจากช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยมี ม.นเรศวร ได้เข้ามาร่วมมือในการพัฒนาระบบคัดกรองนักเรียนยากจน ซึ่ง “ฐานข้อมูล” จะเป็นหลักประกันสำคัญต่อสิทธิในการได้รับเงินอุดหนุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ในฐานะผู้พัฒนาระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ว่า ระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนจะมีทั้งในเว็บไซต์ และในแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ ในชื่อ “ทุนยากจน” ช่วยให้ครูมีการเก็บข้อมูลที่สะดวกขึ้น อีกทั้งยังมีการปรับปรุงแบบฟอร์มการเก็บข้อมูลที่สะท้อนภาพความเป็นจริงมากขึ้น ครบทุกมิติมากขึ้น และเกิดระบบการติดตามนักเรียนยากจน ทำให้เขตพื้นที่การศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการได้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นจริงว่าเด็กคนไหนมีความยากจนและจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจริง ๆ ทำให้ช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะสามารถบริหารจัดการงบประมาณภายใต้ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานสำหรับเด็กยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณที่มาจาก MGROnline วันที่ 31 สิงหาคม 2559