ปฏิรูปการศึกษาหลังยุค รธน.มีชัย
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
สัปดาห์ก่อนว่าเรื่องประชารัฐการศึกษากับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ความหวังใหม่ปฏิรูปการศึกษาไทย ผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
อาทิตย์นี้มีเรื่องว่ากันต่อถึงเส้นทางหรือชะตากรรมปฏิรูปการศึกษาไทย ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2559 ฉบับกรรมการร่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับวงการการศึกษา
ที่แน่ๆ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพราะเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ คือ คณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
ตรงการจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับของเดิม นี่แหละครับเป็นประเด็นน่าพิจารณาติดตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาที่ดำเนินการมาแล้ว เช่น การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2559 และที่ 11/2559 อันเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร มีคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั่วประเทศ เป็นต้น
คำสั่งมาตรา 44 เรื่องนี้จะถูกแปลงเป็นกฎหมายให้มีสถานะเป็นพระราชบัญญัติ ตั้งแต่ตัวแม่คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และตัวลูก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงใหม่ ในห้วงเวลาต่อจากนี้ไป ทำทันที เช่นเดียวกับกฎหมายกองทุนการศึกษา เพื่อรองรับการเรียนฟรี 12 ปี (อนุบาลถึงมัธยมต้น) ตามรัฐธรรมนูญ หรือ 15 ปี รวมถึงมัธยมปลายและอาชีวศึกษาด้วย
หรือจะคอยความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการอิสระที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ก่อน คิดอย่างไรกับโครงสร้างที่สั่งการให้ปรับไปแล้ว และผลประเมินการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
รวมถึงพระราชบัญญัติการศึกษา 2542 ที่กระทรวงศึกษาธิการปรับแก้ใหม่ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ และที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ยกร่างขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เสนอให้รัฐบาลนี้พิจารณาแล้ว
ติดตามความเป็นมาและจะเป็นไปต่อไป ยังคงมีแนวโน้มว่าการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นโครงสร้างคงดำเนินต่อไป เพื่อให้เกิดความเสถียรกับสิ่งที่ได้ตัดสินใจทำไปแล้วเป็นหลัก
ส่วนเนื้อในที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า หรือยิ่งกว่าโครงสร้าง ไม่ว่าเรื่องการปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน การปฏิรูปครูทั้งสามประเด็นคือ การผลิต การพัฒนาและการใช้ ยังคงเป็นเรื่องในระดับนโยบาย ทำนองเดียวกันกับนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งไม่มีความเสถียรในระยะยาวหากมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการบริหารเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
และแม้แต่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในทิศทางการปฏิรูปการศึกษา คือแยกการจัดการอุดมศึกษาออกมาต่างหากจากกระทรวงศึกษาธิการ ในรูปของทบวงอุดมศึกษาหรืออะไรก็ตาม กับการกลับมาเกิดใหม่ของกรมวิชาการ สาระเป็นเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการอีกเช่นกัน
ข้อเสนอของผมก็คือ ภายใต้ความเชื่อที่ยังคงมุ่งสร้างเสถียรภาพให้กับโครงสร้างใหม่นั้น การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกำหนดแนวทางนโยบายที่จะทำให้การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน การปฏิรูปครูเกิดความก้าวหน้า เกิดความเสถียร ควรดำเนินการเลยทันทีในขณะนี้ ทำให้เรื่องครูเป็นวาระแห่งชาติ คณะกรรมการอิสระที่จะเกิดขึ้นใหม่จนถึงรัฐบาลใหม่ภายหลังเลือกตั้งไม่อาจปฏิเสธได้
แนวทาง มาตรการ กระบวนการ มีตุ๊กตาที่ผ่านการศึกษา พิจารณามาแล้วหลายต่อหลายคณะ ล่าสุด เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ให้ดำเนินการทั้งระบบ
ทั้งปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู ปฏิรูประบบและรูปแบบการพัฒนาครู ปฏิรูประบบการใช้ครูและระบบบริหารงานบุคคลของครู ครบเครื่องทุกขั้นตอน
ขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10 และ 11 โดยอำนาจตามมาตรา 44 ในทางปฏิบัติคงมุ่งเน้นเรื่องการบริหารงานบุคคลของครู ยังไม่ก้าวไปสู่ 2 ประเด็นแรกคือการผลิตและการพัฒนาเท่าที่ควร
ปฏิรูปการศึกษาหลังรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ถ้าทำได้สำเร็จในเรื่องครู ทำให้ครูพันธุ์เก่ากับครูคนใหม่ที่กำลังจะผลิตออกมาจากท่อ กลายเป็นครูพันธุ์ใหม่ เท่านี้ก็มีความหวังแล้วครับ
เพราะตรงกับรายงานผลงานวิจัยหัวข้อ โอกาสที่หายไป 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา ล่าสุด พูดชัดว่า สิ่งที่ทำให้ปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ เกิดจากการบริหารจัดการหลักสูตรและคุณภาพของครู โดยเฉพาะคุณภาพของครูที่เป็นปัจจัยสำคัญ ตราบใดที่ไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ แล้วไปแก้โดยวิธีอื่น เช่น พยายามเพิ่มลดโรงเรียนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 1 ก.ย. 59 เวลา: 12:00 น.