ปฏิรูปการศึกษาแล้ว ปฏิรูปการลูกเสือด้วยครับ
โดย จารึก อะยะวงศ์
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 เป็นต้นมา การลูกเสือไทยก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาของชาติมาโดยตลอดเป็นเวลา 105 ปีแล้ว บัดนี้วันลูกเสือแห่งชาติเวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ในวาระที่รัฐบาลรวมทั้งรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการลงประชามติ ได้กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่ารัฐจะต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพราะการศึกษาไทยอยู่ในยุคสมัยที่ตกต่ำที่สุด เมื่อการจัดการศึกษามีปัญหามาก การลูกเสือก็ตกต่ำมากเช่นกัน ซึ่งในวงเสวนาเล็กๆ แห่งหนึ่งของผู้ที่รักการลูกเสือเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือฝ่ายปฏิบัติการที่มีหน้าที่ให้การอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับประเทศมายาวนานท่านหนึ่ง ถึงกับระบายความในใจว่า
กิจการลูกเสือในประเทศไทยต้องยอมรับว่ากระบวนการถดถอย กล่าวคือกิจกรรมเข้าไปไม่ถึงตัวเด็กอย่างจริงจัง แต่กลับไปถึงบุคลากรทางลูกเสือที่ผลิตกันมากจนเกินไป คือไปมองที่ตัวผู้ใหญ่มากเกินไป เด็กลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือวิสามัญ มีวิชาลูกเสือเป็นทักษะพิเศษที่น่าเรียน เช่น วิชาช่วยเหลือคนตกน้ำ แต่โรงเรียนไม่สนใจ ไม่เปิดให้มีการเรียนการสอน การเดินทางไกลก็มีบ้างแต่ค่อนข้างน้อยและมีสถิติกลับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการปรับให้ทันสมัยจะเป็นปัญหาต่อกิจการลูกเสือในอนาคตอย่างแน่นอน สำหรับยุทธศาสตร์ของเยาวชนไทยในกิจการลูกเสือควรตั้งอยู่บนรากฐานและเตรียมความพร้อมให้เยาวชน มีส่วนร่วมในเวทีของสังคมไทยและเวทีสากล ซึ่งต้องการให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในวงการลูกเสือในกลุ่มของเยาวชนให้มากขึ้น
ที่สำคัญที่มองว่าเป็นปัญหาคือ ปัจจุบันบุคลากรที่อยู่ในวงการลูกเสือมีค่านิยมที่ต้องได้รับเครื่องหมายหรือตำแหน่งต่างๆ ในกิจการลูกเสือมากเกินไป เพราะในกิจการลูกเสือมีระดับชั้นมากมาย ที่ผ่านมาทุกคนทำเพื่อต้องการตำแหน่งแทบทั้งสิ้น แต่ตรงกันข้ามการขอเหรียญเชิดชูเกียรติให้เด็กกลับมีปริมาณน้อยมาก
ความในใจของบุคลากรที่คลุกคลีกับกิจการลูกเสือมายาวนาน แสดงสภาพแท้จริงของกิจการลูกเสือไทยว่าประโยชน์ของลูกเสือตกอยู่ที่ผู้ใหญ่ (บรรดาพ่อเสือ) มากกว่าเด็ก ฉะนั้นที่ปรารภกันว่า เด็กไทยคิดไม่เป็น ทำไม่เป็น ตัดสินใจไม่เป็น ขาดทักษะการที่จะเป็นผู้นำ จึงเกิดจากการที่ผู้ใหญ่ในวงการลูกเสือรักการเป็นผู้มีบทบาทในวงการลูกเสือมากกว่าการส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมลูกเสือด้วยตนเอง
กิจการลูกเสือ (ของเด็ก) ซบเซาและถดถอยแค่ไหนอย่างไร จะเห็นได้จากปัจจุบันไม่มีลูกเสือคอยช่วยเหลือตำรวจในการให้บริการจราจร ไม่มีการบริการขนส่งสิ่งของให้ผู้โดยสารตามสถานีรถไฟหรือสถานีขนส่งเหมือนเมื่อสามสิบปีก่อน กิจกรรม “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์” หลังการชุมนุมทางการเมืองที่ราชประสงค์ และกรณีเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยไปช่วยทำความสะอาด ขนสิ่งของช่วยผู้ประสบภัย ช่วยบรรจุสิ่งของลงถุงยังชีพร่วมกับสภากาชาดและองค์กรการกุศลต่างๆ ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นลูกเสือแต่กลับไม่แต่งเครื่องแบบลูกเสือขณะเข้าไปบำเพ็ญประโยชน์เลย เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาไม่แต่งเครื่องแบบลูกเสือเพราะเขาไม่รู้สึกถึงคุณค่าของลูกเสือและเครื่องแบบลูกเสือ เคยสอบถามลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (ชั้น ม.3) ว่า เมื่อได้เรียนต่อชั้น ม.4 จะเป็นลูกเสือวิสามัญต่อไปไหม คำตอบที่ได้คือ “ไม่”
ปัจจุบันกองลูกเสือวิสามัญ (ชั้น ม.4-5-6) จึงหดหายไปจากโรงเรียนมัธยมศึกษาเกือบทั้งหมด
สิ่งสำคัญที่ทำให้กิจการลูกเสือซบเซาและถดถอยอย่างยิ่งก็คือ หลักสูตรการสอนวิชาลูกเสือในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการลูกเสือโลกและข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติโดยสิ้นเชิง เพราะหลักสูตรลูกเสือไทยจัดการสอนเป็นระดับชั้น เช่น หลักสูตรวิชาลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ชั้น ม.1, ม.2, ม.3 ทั้งที่ ลอร์ดเบเดล โพเอล ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกได้บอกอย่างชัดเจนว่า การลูกเสือไม่ใช่วิชาการ หากแต่เป็นเกมการเล่นสนุกสนานกลางแจ้ง เป็นสถานที่ที่ผู้ใหญ่กับเด็กสามารถจะออกไปผจญภัยร่วมกัน
ส่วนข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติก็ใช้การฝึกอบรม (ไม่ใช่สอน) โดยไม่ได้แบ่งตามระดับชั้น แต่ให้จัดลูกเสือทั้งหมดเป็นกอง แต่ละกองแบ่งเป็นหมู่ (2-6 หมู่) มีนายหมู่เป็นหัวหน้า ให้ผู้กำกับกองลูกเสือ (ครู) แต่งตั้งหัวหน้านายหมู่ และนายหมู่อื่นๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของกองลูกเสือนั้น มีหัวหน้านายหมู่เป็นประธาน มีผู้กำกับ (ครู) เป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินงานมีหน้าที่ วางแผนและจัดกิจกรรมของกองลูกเสือ แต่งตั้งลูกเสือเป็นหัวหน้ากิจกรรมต่างๆ บริหารกิจการภายในกองลูกเสือ ควบคุมการรับจ่ายเงินของกองลูกเสือ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการจัดกิจกรรมในกองลูกเสือ เป็นหน้าที่ของลูกเสือจัดการกันเอง โดยมีผู้กำกับ (ครู) เป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่ใช่ให้ครูไปสอนวิชาลูกเสือ
ถ้าการฝึกอบรมลูกเสือเป็นไปตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติแล้ว กิจการลูกเสือจะเป็นที่น่าสนใจของเด็กและเยาวชน ลูกเสือก็จะมีความมั่นใจในตนเอง พร้อมที่จะสวมเครื่องแบบลูกเสือด้วยความภาคภูมิใจ ลูกเสือไทยก็จะเป็นลูกเสือที่มีศักยภาพการเป็นผู้นำ มีความรู้และประสบการณ์ที่พร้อมจะเป็นพลเมืองดีของชาติในอนาคต
ปฏิรูปการลูกเสือเถิดครับ การศึกษาไทยจะได้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง
ข้อมูลผู้เขียน จารึก อะยะวงศ์ ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดพุทธบูชา
ขอบคุณที่มาจาก มติชน วันที่: 31 ส.ค. 59 เวลา: 14:00 น.