ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เตรียมหารือแนวทางปรับรูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่จะยกเลิกระบบแอดมิชชัน มาใช้ระบบเอ็นทรานซ์แบบใหม่ ขณะที่การจัดสอบเพียงครั้งเดียวและใช้ข้อสอบกลางยังเป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยแสดงความกังวลถึงคุณภาพ
กรณีที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมปรับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา หรือแอดมิชชัน มาเป็นระบบที่อาจจะคล้ายกับการสอบเอ็นทรานซ์ หรือที่เรียกว่า "เอ็นทรานซ์ 4.0" ซึ่งเตรียมประกาศใช้ในปีการศึกษา 2561 นั้น
รศ.ลิลลี่ กาวีต๊ะ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า การปรับรูปแบบดังกล่าวไม่กระทบต่อการรับนิสิต เพราะระบบใหม่สอดคล้องกับวิธีการรับนิสิตของมหาวิทยาลัยที่ใช้การรับตรงผ่านระบบ "เคยู แอดมิชชัน" ไม่มีการสอบ แต่ให้นักเรียนนำคะแนนแก็ต แพ็ต และ 9 วิชาหลักมายื่นตามหลักเกณฑ์ของแต่ละคณะ ช่วยแก้ปัญหาการสมัครสอบหลายที่และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง
แต่แนวทางใหม่ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่สามารถจัดสอบรับตรงเองได้ โดยให้ใช้ข้อสอบกลางเพื่อคัดเลือกนั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องหาแนวทางให้ชัดเจน เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการวัดนักเรียนของแต่ละคณะซึ่งยังแตกต่างกัน
โดยในวันที่ 1 ก.ย.2559 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เตรียมประชุมกำหนดแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษารูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในประเด็นการจัดทำคู่มือกำหนดสัดส่วนคะแนนของแต่ละคณะและสาขาวิชา ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2560 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดเพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ก่อนจะปรับรูปแบบในปีการศึกษา 2561
สำหรับรูปแบบเบื้องต้นของเอ็นทรานซ์ระบบใหม่ นักเรียนต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จัดสอบแก็ต แพ็ต โอเน็ตและ 9 วิชาหลักตามเดิม แต่จะสอบเพียงครั้งเดียวในช่วงเดือนมีนาคมและห้ามมหาวิยาลัยเปิดสอบตรง โดยคะแนนที่ได้นักเรียนจะนำไปเลือกคณะ 4 อันดับ หากพลาดรอบแรกสามารถเลือกใหม่อีก 4 อันดับในรอบที่ 2 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเชื่อว่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบและประหยัดค่าใช้จ่าย
ขอบคุณที่มาข่าวและวิดีโอประกอบจาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 30 สิงหาคม 2559