อยากเลี้ยงลูกให้ฉลาด ต้องไม่มีคำว่า....
โดย ดร.สุพาพร เทพยวรรณ
ขณะที่รถติดลูกถามว่าสีแดง สีเหลือง และสีเขียว ของสัญญาณไฟจราจร มีความหมายว่าอะไร คุณพ่อคุณแม่ตอบลูกว่าอย่างไร เราตอบว่าสีแดงหมายถึงหยุด สีเขียวหมายถึงให้ขับรถต่อไปได้ หรือเราใช้วิธีถามคำถามกลับไป ให้ลูกคิดและให้ลูกพยายามค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง หลายต่อหลายครั้งเราใช้วิธีตอบ และให้ความกระจ่างแก่ลูกในทันที เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา ปัจจุบันผู้ปกครอง คุณครู หรือผู้ดูแลเด็กไม่มีความอดทนเพียงพอในการที่จะตอบสนองต่อคำถามของเด็กได้ตลอดเวลา ช่วงเวลาสั้น ๆ และสำคัญในการตอบคำถามนี้ นักวิจัยกล่าวว่าจะส่งผลต่อชีวิตของเด็กเมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
ศาสตราจารย์ ไฮท์ เพเซท และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทมเพิล ได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้ปกครองตระหนักถึงทักษะการพัฒนาเด็กที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จที่แท้จริงในอนาคต ว่า ในปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกแห่งการรีบเร่ง และสับสน ผู้ปกครองกังวลใจอย่างมากต่ออนาคตของลูกหลาน มีข้อมูลข่าวสารมากมายถูกเผยแพร่และผลักดันให้เราคิดว่าต้องแข่งขันเพื่อการเป็นที่หนึ่ง ผู้ปกครองต้องการให้ลูกได้คะแนนสูงในทุกวิชา แต่จากผลการวิจัยพบว่าเด็กที่ทำคะแนนสูงในวิชาต่าง ๆ ไม่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไป
เรากำลังฝึกให้เด็กทำตามอย่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นการก้าวถอยหลัง เพราะคิดว่าคอมพิวเตอร์นั้นเป็นสิ่งที่ฉลาดกว่ามนุษย์ อีกทั้งทำให้เด็กคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางด้านสังคม ความเอื้ออาทรและการเอาใจใส่ต่อกันและกันรวมทั้งการเป็นคนดีของสังคมน้อยลง เพราะคอมพิวเตอร์ไม่สามารถตอบสนองได้ครบทุกพัฒนาการของคนเราได้
การเลี้ยงลูกในศตวรรษที่ 21 ได้แนะนำแบบ 6C คือ (collaboration, communication, content, critical thinking, creative innovation และ confidence) แปลได้ความหมายว่า การร่วมมือ การสื่อสารเนื้อหา การคิดวิเคราะห์ นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ และความเชื่อมั่น โดยนักวิจัยเชื่อว่าการเชื่อมโยงทักษะต่าง ๆ นี้ เข้าด้วยกัน และการลงลึกถึงพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ความสัมพันธ์ของทั้ง 6C คือ การร่วมมือ การปรับตัวและควบคุมตัวเองที่จะไม่ไปทำร้าย หรือทำให้ผู้อื่นสะดุด ซึ่งการร่วมมือนี้ถือเป็นหัวใจของการสร้างพื้นฐานประสบการณ์ที่หลากหลายในแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งได้จากการเรียนในชั้นเรียน ต่อมาคือ การสื่อสาร เราไม่สามารถจะสื่อสารถึงกันได้ หากไม่มีผู้รับสาร เราต้องมีทักษะในการพูด การเขียน การอ่าน และการฟัง ต่อมาคือเนื้อหา เราไม่สามารถจะสืีอสารได้หากไม่เข้าใจภาษาหรืออ่านหนังสือไม่ได้ การคิดวิเคราะห์จะขึ้นอยู่กับเนื้อหา เพราะเราไม่สามารถจะได้ข้อมูลต่าง ๆ ได้ถ้าเราไม่มีเนื้อหาที่จะศึกษา นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ และความเชื่อมั่นจะเชื่อมโยงและตามมาเป็นลำดับ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนที่ไม่เคยพบกับความผิดพลาด และหากเราให้เด็ก ๆอยู่อย่างสะดวกสบายไม่เผชิญกับความผิดพลาด เด็กจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
หลังจากที่เราเข้าใจความหมายของความสำคัญทั้ง6อย่างเรียบร้อยแล้ว เราจะมองลึกลงไปถึงขั้นพัฒนาการ 4 ด้านของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าการคิดวิเคราะห์เราต้องมีเนื้อหาก่อน หลายคนนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานมีกระดาษกองสุมอยู่ มีข้อมูล เช่น หนังสือ และแมกกาซีน กองอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะต้องเลือกใช้ เราต้องวิเคราะห์ว่าเราจะเอาเนื้อหาส่วนไหนมา ดังนั้น ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ เราต้องมีความเชื่อมั่นว่าข้อมูลนั้นเชื่อถึอได้ หากมีคนบอกว่ามีไดโนเสาร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ขอนแก่น เราคงต้องซื้อหนังสือเล่มนั้นมาอ่านทันที ขั้นตอนที่สองศึกษาความจริงจากข้อมูลซึ่งแตกต่างกัน เช่น บางคนบอกว่าประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น เรามีเอกราชมาช้านาน แต่อีกเล่มหนึ่งบอกว่าเราเคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและเคยเสียกรุงที่กรุงศรีอยุธยา นี่คือ จุดเริ่มต้นของการคิดวิเคราะห์ อันดับที่สามเมื่อเรารวบรวมความคิดแล้ว หลายคนมักใช้คำว่า มีคนกล่าวว่า โดยไม่อ้างอิง และไม่เคารพงานของผู้อื่น หรือไม่มีการอ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การคิดอย่างลึกซึ้งและใคร่ครวญข้อมูลที่มีอย่างเข้าลึก รวมทั้งการใช้เวลาจะช่วยให้เราเข้าใจและตีปัญหาได้อย่างถ่องแท้ และเข้าถึงทุกแง่มุมของข้อมูล
การคิดอย่างวิเคราะห์ต้องอาศัยการผสมผสานวัฒนธรรม รวมทั้งความรู้ของผู้ปกครอง ครู รวมทั้งประสบการณ์ของปู่ย่าตายายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น หากเราต้องการสร้างเด็ก ๆ ให้เป็นผู้ที่มีความคิดอย่างลึกซึ้งและวิเคราะห์ เราจะต้องให้เด็ก ๆ คิด และตอบปัญหาด้วยตนเอง ค้นพบด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าเมื่อเวลาที่เขาถามคำถาม เราจะให้คำตอบทันทีว่า.... ซึ่งเป็นการให้คำตอบกับเด็ก ๆ เลย แทนที่จะทำอย่างนั้นเราต้องให้เขาคิดและถามคำถามมากขึ้น รวมทั้งให้เข้าใจถึงความคิดของผู้อื่นด้วย มีใจกว้างที่จะยอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ถ้าเราเห็นคนจรจัดนอนอยู่ข้างถนน เราคิดว่าคนจรจัดคนนั้นกำลังคิดอะไรและรู้สึกอย่างไรที่ไม่มีบ้านอยู่
การมองจากมุมของคนอื่นจะช่วยให้เรามีความคิดที่กว้างและมีหลายมุมมอง มีความคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งในสิ่งต่าง ๆ โดยมองในแง่มุมที่ลึกและกว้าง เข้าใจโลกมากขึ้นนั่นเป็นรากฐานของการคิดวิเคราะห์ ทฤษฎีของจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญที และสามารถทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ได้ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนวิชาการในชั้นเรียน
มนุษย์เราไม่ได้นั่งเรียนรู้แค่การท่องจำจากตำราต่าง ๆ แต่โลกของเรากว้างมากกว่านั้น เราต้องคิดนอกกรอบและเผชิญกับโลกนอกโรงเรียน
คุณพ่อคุณแม่ต้องการสร้างลูกให้เป็นหุ่นยนต์ที่ทำตามเราทุกอย่างเรียกเมื่อไหร่ก็มา หรือเราต้องการสร้างลูกให้มีความคิดเป็นของตัวเองทำอะไรด้วยตัวเองเป็นคนมีเหตุมีผล รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่คงต้องกลับมาดูว่าขณะนี้ลูกของเราอยู่ที่ตรงจุดไหน และเราจะใส่ทักษะที่แตกต่างให้ลูกได้อย่างไร เพื่อลูกจะเติบโตเป็นคนที่สามารถเผชิญและเข้าใจกับโลกภายนอกได้อย่างดีในอนาคต
สิ่งนี้คือ การเรียนรู้โดยเน้นเรื่องของสังคม ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การวัดและการประเมินผลทางด้านของสติปัญญาไอคิว แต่รวมไปถึงความฉลาดทุกอย่างในตัวของเด็ก การปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึง เช่นเดียวกันหากเราต้องการให้เด็กมีความเชื่อมั่น แต่ต้องตอบคำถามที่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว การเติมคำตอบลงในช่องว่างให้ถูกต้องคงไม่เป็นการสร้างเด็กให้มีการคิดวิเคราะห์อีกต่อไปแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนวิเคราะห์และคิดลึกซึ้ง คงต้องหาโอกาสให้ลูกคิดและตอบคำตอบได้อย่างหลากหลาย เช่น ถามลูกว่าลูกมีความคิดอะไรใหม่ ๆ ในการทำเตียงให้เรียบร้อยบ้างผลลัพธ์ที่ได้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่แปลกใจจากความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายที่เกิดขึ้นจากลูกก็เป็นได้ เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ
ขอบคุณที่มาจาก MGR Online 28 สิงหาคม 2559