จังหวัดเชียงใหม่ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนา เรื่อง "การยกระดับคุณภาพการมัธยมศึกษาสู่มาตรฐานสากล ประจำปี 2559" จัดโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมืองเชียงใหม่ โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายประเสริฐ บุญเรือง ศึกษาธิการภาค 15, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ให้การต้อนรับ และมีผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้กว่า 1,500 คน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จึงได้เดินทางมาบรรยายด้วยตัวเอง เพื่อสื่อสารถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภาพรวม รวมทั้งต้องการมารับฟังสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะในการทำงาน ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสังคมจะตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดการศึกษาตลอดเวลา ทั้งเด็กไทยคิดไม่เป็น, คนเก่งทำไมไม่มาเป็นครู, เรียนฟรีไม่ฟรีจริง, เด็ก ม.6 ไม่เรียนหนังสือ แต่ต้องวิ่งรอกสอบเข้ามหาวิทยาลัย, ปัญหาธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนกระทั่งระดับอุดมศึกษา, การแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหาร, การสอบโอเน็ตไม่ได้มาตรฐานและไม่ตรงกับเนื้อหาวิชาที่สอนในโรงเรียน เป็นต้น
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้รวมรวมประเด็นปัญหาด้านการศึกษา พร้อมกำหนดจุดเน้นที่ต้องดำเนินการ 6 ด้าน (หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้, การผลิตและพัฒนาครู, การผลิต พัฒนากำลังคนและงานวิจัย, การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา, ICT เพื่อการศึกษา, การบริหารจัดการ) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา สรุปดังนี้
- การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในภูมิภาค ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีเวทีในการหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันแก้ไขปัญหาการศึกษาในพื้นที่ โดยเน้นขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่เป็นสำคัญ
- ปฏิรูประบบงบประมาณ ซึ่งแต่เดิมส่วนกลางคือ สพฐ. จะคิดแผนงานโครงการและส่งงบประมาณไปยังพื้นที่ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนตามลำดับ แต่ในปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป งบประมาณจะถูกส่งตรงไปยังจังหวัด เพื่อให้จังหวัดจัดทำแผนงานพัฒนาโรงเรียนได้ตรงตามความต้องการ มีการเปลี่ยนงบประมาณกว่าร้อยละ 70 ของ สพฐ.ให้เป็นงบพัฒนาโรงเรียนและโรงเรียนสามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณได้เอง หากแผนงานมีความคล้ายคลึงกันในหลายโรงเรียน ก็ต้องดำเนินโครงการในระดับเขตพื้นที่การศึกษาหรือในระดับจังหวัดต่อไป รวมทั้งการอบรมสัมมนาครูและผู้บริหาร จะต้องใช้จังหวัดเป็นฐาน เพื่อลดเวลาในการเดินทาง ประหยัดงบประมาณ และได้รับเนื้อหาความรู้ตรงกับความต้องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในแต่ละบริบทของพื้นที่ด้วย
ในส่วนของงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัว หมวดค่าจัดการเรียนการสอนมีการถูกนำไปจ่ายค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นั้น ได้มอบให้ สพฐ.พิจารณาแบ่งสัดส่วนงบจัดการเรียนการสอนกับงบบริหารงานให้ชัดเจน โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้โดยไม่เป็นการเพิ่มงบประมาณ ซึ่งจะเป็นสัดส่วนอย่างไรนั้น คงต้องรอสรุปรายงานจาก สพฐ.ก่อน
นอกจากนี้ มีแนวคิดที่จะเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับเด็กพิเศษที่ต้องเรียนร่วมในโรงเรียน เพื่อจัดหาสื่อการเรียนการสอน ครูพี่เลี้ยง ตลอดจนจัดทำระบบคัดกรองส่งไปยังโรงเรียน โดยในปัจจุบันมีเด็กเหล่านี้กว่า 380,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเด็กสมาธิสั้นที่จะต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ช่วงเด็ก เพื่อให้มีพัฒนาการและเติบโตไปในทิศทางที่ดี
- การบริหารงานบุคคล จะปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกครู ให้เป็นระบบเดียวกับการสอบข้าราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ที่มีการสอบ 3 ภาค คือภาค ก, ภาค ข, ภาค ค ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ รวมทั้งกำหนดผู้จัดสอบในแต่ละภาค อย่างไรก็ตามจะเปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดูแลการสอบภาค ค. (สัมภาษณ์)เพื่อคัดเลือกครูที่จะมาอยู่ในความรับผิดชอบเอง
สำหรับการบรรจุ/แต่งตั้ง/โยกย้ายครูที่ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้โรงเรียนระดับประถมศึกษามีทั้งโรงเรียนที่มีครูเกินและครูขาด เช่น โรงเรียนเล็ก (นักเรียนต่ำกว่า 120 คน) มีครูไม่ครบชั้นกว่า 30,000 ห้องเรียน ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่มีครูเกินกว่า 90,000 ห้องเรียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครูกระจุกตัวอยู่ที่โรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ในประเด็นนี้ สพฐ.ได้ให้พันธะสัญญาในการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม 3 ส่วน คือ 1) จะทำครูให้ครบตามเกณฑ์ภายใน 1 ปี, 2) จะทำครูให้มีครูประจำชั้นครบทุกห้องภายใน 2 ปี 3) จะทำให้ครูตรงสาขาภายใน 5-10 ปี ในขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูคู่ขนานไปด้วย อาทิ
- นำครูที่เกษียณกลับมาสอน อยู่ระหว่างเตรียมการนำครูที่เกษียณราชการไปแล้ว กลับมาสอนวิชาที่เป็นความต้องการในโรงเรียนเดิม โดยเน้นครูผู้มีประวัติดี มีความสามารถ และตรงกับความต้องการของโรงเรียน
- การวางแผนอัตรากำลังครูล่วงหน้า 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) เพื่อทดแทนจำนวนครูที่เกษียณอายุราชการจำนวน 223,301 อัตรา
- การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 1,072 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่มีนักเรียน 0 คน จำนวน 207 แห่ง, นักเรียน 1 คน 8 แห่ง, นักเรียน 2 คน 20 แห่ง กระทรวงศึกษาธิการจึงมีแนวคิดที่จะนำงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ สพฐ.ได้รับกว่า 3,800 ล้านบาท มาใช้พัฒนาปรับปรุงโรงเรียนแม่เหล็ก ที่จะเป็นโรงเรียนรองรับนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กในรัศมีไม่เกิน 6 กิโลเมตร ให้มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน โดยขณะนี้ สพฐ.ได้กำหนดโรงเรียนเป้าหมายที่จะเป็นโรงเรียนแม่เหล็กไว้แล้ว ในส่วนของครูโรงเรียนขนาดเล็ก สามารถที่จะย้ายไปสอนที่โรงเรียนแม่เหล็กได้ และในส่วนของโรงเรียนบางแห่งอาจต้องเปลี่ยนเป็นศูนย์การเรียนรู้ ทั้งนี้จะดำเนินการเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ปกติ จะไม่เข้าไปยุ่งกับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือห่างไกลแต่อย่างใด
- การบริหารจัดการโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน และอยู่ห่างจากโรงเรียนมัธยมอื่นไม่เกิน 6 กิโลเมตร ซึ่งมีอยู่จำนวนกว่า 1,000 โรงเรียน จะดำเนินการรูปแบบเดียวกันกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยการดำเนินงานในระยะแรกที่ยังมีนักเรียนเรียนอยู่ จะเริ่มปิดห้องเรียนชั้น ม.1 ก่อน จากนั้นจะปิดทีละชั้นจนครบทุกชั้น ในส่วนของครูสามารถย้ายไปสอนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนเดิม หรือจะย้ายไปสอนสาขาที่ขาดแคลนในโรงเรียนมัธยมใกล้เคียงก็ได้ ซึ่งหากสามารถปิดโรงเรียนทั้งหมดได้จะทำให้มีครูเพิ่มถึง 3,000 คน
- การผลิตครูระบบปิด มีแนวคิดที่จะผลิตครูในระบบปิด เช่นเดียวกับระบบการผลิตแพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ เพื่อทำให้ได้ผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะมาเป็นครูจริงๆ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย เพื่อผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 25 ส่วนอีกร้อยละ 40 จะหารือกับสถาบันผลิตครูที่มีอยู่ 98 แห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎให้ผลิตครูในสาขาวิชาที่กำหนดไว้ให้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผลิตครูเฉพาะสาขาปฐมวัย จากนั้นจะสื่อสารให้ผู้เรียนทราบว่า มหาวิทยาลัยใดเปิดสอนครูสาขาใด เพื่อเป็นข้อมูลให้เลือกเรียนในสาขาที่ถนัด
นอกจากนี้ จะผลิตครูให้มีทักษะตามศตวรรษที่ 21 เนื่องจากห้องเรียนบางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และการผลิตครูมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีลักษณะเป็น Immigrant Digital แต่นักเรียนต้องมีทักษะการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 และเป็น Native Digital ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือ การปรับหลักสูตรการผลิตครูของสถาบันผลิตครู การปรับมาตรฐานหลักสูตร เพื่อพัฒนาครูสู่ศตวรรษที่ 21 ที่ครูต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเด็ก โดยเฉพาะเรื่อง Immigrant Digital และ Native Digital กล่าวคือ Teacher = Learner นั่นเอง อย่างไรก็ตามมีบทสรุปหนึ่งเขียนไว้ว่า “ไม่มีเทคโนโลยีใดมาแทนครูได้ เนื่องจากครูต้องอบรมคุณธรรมจริยธรรมและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน” จึงฝากให้ผู้บริหารนำไปแจ้งให้ครูทราบด้วยว่าต้องทำหน้าที่ทั้งสองส่วนอย่างเต็มที่ด้วย
- การสอบวัดวิชามาตรฐานครู โดยจะเริ่มจากสอบวัดวิชามาตรฐานสำหรับครูชั้น ม.1-3 ก่อน หากคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ ต้องเข้ารับการอบรมจนกว่าจะสอบผ่าน และหากสอบครบ 9 ครั้งในเวลา 3 ปี แล้วยังไม่ผ่าน จะไม่สามารถเป็นครูได้อีก ทั้งนี้จะเริ่มต้นจากสอบวัดวิชามาตรฐานครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ชั้น ม.1-3 ในช่วงเดือนเมษายน 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือของ สสวท., คุรุสภา และ สพฐ. เพื่อกำหนดวิชาที่จะต้องใช้สอบ จากนั้นเมื่อกำหนดได้แล้วจะเผยแพร่ทางเว็บไซต์ TEPE Online ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ได้มีการจัดสอบวัดวิชาภาษาอังกฤษสอบวัดครูทั่วประเทศตามเกณฑ์ของ CEFR แล้ว
- การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้อำนวยการโรงเรียน ในอนาคตการเข้าสู่ตำแหน่ง อาจจะต้องเริ่มจากการเป็นครูชำนาญการโรงเรียนขนาดเล็ก หรือเป็นหัวหน้ากลุ่มงานในโรงเรียนขนาดใหญ่มาก่อน เมื่อสอบผ่านการคัดเลือกและบริหารโรงเรียนเป็นเวลา 3-4 ปีแล้ว จะต้องเข้ารับการประเมินการทำงาน หากผลประเมินอยู่ในระดับดีมาก จึงจะสามารถเลื่อนไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดกลางได้ และได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นชำนาญการพิเศษทันที แต่หากผลประเมินอยู่ในระดับปานกลาง จะต้องเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเดิมต่ออีก 1 ภาคเรียน หรืออาจย้ายไปอยู่โรงเรียนในระดับเดียวกันได้ ส่วนผู้ประเมินที่ไม่ผ่านใน 4 ปี ต้องกลับไปเป็นครูชำนาญการเช่นเดิม
- การคงไว้ซึ่งวิทยฐานะ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณเกี่ยวกับเงินวิทยฐานะสูงที่สุด และครูได้รับอย่างไม่มีข้อจำกัด จึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการพิจาณาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สอดคล้องกับการมีวิทยฐานะของครูในโรงเรียน ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างของ สพฐ. เช่น ครูภาษาไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ตรวจข้อสอบอัตนัยของ สทศ. อาจใช้เป็นคะแนนส่วนหนึ่งเพื่อคงไว้ซึ่งวิทยฐานะ โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงาน เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าครูที่ตรวจข้อสอบอัตนัยเป็น ก็คือครูที่สอนเด็กเป็น
- การดำเนินงานด้านวินัยของกระทรวงศึกษาธิการ กรณีคนกระทำความผิด แต่ไม่โดนลงโทษ จะทำให้คนดีเสียกำลังใจ กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ขณะนี้จึงได้สั่งพักงานผู้บริหาร สกสค. 5 คนไว้ก่อน เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นกับบริษัทบิลเลี่ยนฯ จำนวน 2,100 ล้านบาท
- การปรับปรุงพัฒนาระบบสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ จะพัฒนาและปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษา ซึ่งยังขาดความเสถียร ไม่ทันสมัย และไม่ทั่วถึง โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2560 โดยองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการต้องบูรณาการระบบสารสนเทศให้เชื่อมฐานข้อมูลและแบ่งปันกันได้ รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลกลางและระบบจัดการองค์ความรู้ด้วย
- กิจกรรมตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในปีการศึกษา 2560 ขอให้ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มกิจกรรม Head ที่ช่วยพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของเด็กให้มากขึ้น
- ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ขณะนี้ได้มีการหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางให้มี “ระบบสอบกลาง” เพื่อนำคะแนนสอบไปใช้เข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งการทดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test : GAT) การทดสอบวิชาการทางวิชาชีพ (Professional and Academic Aptitude Test : PAT) และการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา โดยจะจัดสอบรอบเดียวในช่วงเวลาที่นักเรียนเรียนจบชั้น ม.6 ตามหลักสูตรแล้ว ประมาณกลางเดือนมีนาคม โดยจะใช้ระยะเวลาสอบประมาณ 6 สัปดาห์ - 2 เดือน หลังจากมีการประกาศผลสอบและเด็กรู้ผลคะแนนตนเองแล้ว สามารถนำคะแนนไปยื่นสมัครเรียนในสาขาวิชาที่ต้องการได้ 4 อันดับ จากนั้นมหาวิทยาลัยจะเลือกเด็กตามลำดับคะแนน พร้อมส่งข้อมูลกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ (Clearing House) ซึ่งจะดำเนินการอย่างน้อย 2 รอบ อย่างไรก็ตามยังเป็นผลจากการหารือรอบแรกเพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดความเหลื่อมล้ำ และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ต่อจากนี้ต้องรอให้ ทปอ.ออกแบบระบบการสอบกลางให้แล้วเสร็จ พร้อมหารือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันและพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากระบบสอบกลางร่วมกันต่อไป
การประชุมสัมมนา เรื่อง "การยกระดับคุณภาพการมัธยมศึกษาสู่มาตรฐานสากล ประจำปี 2559" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ในการบริหารจัดการการศึกษาในยุคของการปฏิรูปการศึกษาและจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการร่วมกันอย่างกว้างขวางและหลากหลาย
โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการผลงานโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีวิธีปฏิบัติเป็นเลิศ การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติคุณผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เสียสละ ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ ตลอดจนประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับวงการมัธยมศึกษาไทย
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต : ถ่ายภาพ
28/8/2559
ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก กระทรวงศึกษาธิการ 28 สิงหาคม 2559