ปลัดศธ. แจง ปรับระบบรับตรงคล้ายระบบเอ็นทรานซ์เดิม ให้นร.สอบข้อสอบกลาง 1 ครั้ง นำคะแนนไปเข้าระบบเคลียริงเฮาส์ 2 หน ลดปัญหาวิ่งรอกสอบและค่าใช้จ่าย ด้านรองประธาน ทปอ.ห่วงกวดวิชาพุ่ง สร้างความเหลื่อมล้ำ ขอสรุปก่อนเข้าพบ รมว.ศธ.อีกครั้ง...
จากการประชุมแก้ปัญหาระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะปรับระบบการรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดค่าใช้จ่าย และให้เด็กอยู่ในชั้นเรียนจนจบ ม.6 โดยมีแนวคิดที่จะเปิดรับระบบรับตรงร่วมกัน หรือระบบเคลียริงเฮาส์ 2 ครั้ง โดยใช้ข้อสอบกลางคือ วิชาสามัญ 9 วิชา, ความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ทั้งนี้เด็กสามารถนำคะแนนไปยื่นสมัครโดยเลือกได้ 4 อันดับ ขณะเดียวกัน หากมหาวิทยาลัยใดต้องการรับตรงเองจะต้องมีเหตุผลที่ดีมาชี้แจงต่อ รมว.ศึกษาธิการ นั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค.59 รศ. นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเปิดรับนิสิตนักศึกษาผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ของ สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กว่า 400,000 คน ขณะที่ระบบกลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาหรือแอดมิชชั่น เพียง 100,000 คน ดังนั้นจึงมีการหารือเพื่อปรับปรุงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาภายใต้กติกาว่า เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งระบบการสอบรับตรงร่วมกันจะช่วยแก้ปัญหาการสอบในอนาคต เพราะจะจัดสอบในช่วงเวลาเดียวกันหลังเด็กเรียนจบชั้น ม.6 แล้ว มีสนามสอบกระจายทั่วประเทศและสอบข้อสอบกลางจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ( สทศ.)
"วิธีนี้อาจคล้ายกับระบบเอ็นทรานซ์เดิม แตกต่างกันตรงที่เด็กจะรู้คะแนนล่วงหน้า และเลือกสมัครเรียนในคณะ/สาขาที่คะแนนสามารถเข้าเรียนได้ และเด็กจะถูกคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยอีกรอบหนึ่งจากนั้นมหาวิทยาลัยจะส่งชื่อเข้าระบบเคลียริงเฮาส์ เพื่อแจ้งผลการคัดเลือกไปยังเด็ก คนที่สอบติดหลายที่ก็ต้องเลือกว่าจะเรียนที่ไหนส่วนที่นั่งที่เหลือในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะเปิดรับสมัครเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์รอบ 2 ซึ่งสอบครั้งเดียวเด็กไม่ต้องวิ่งรอก เพราะสมัครและยื่นคะแนนผ่านออนไลน์ และเสียค่าใช้จ่ายเพียง 2 ส่วน คือ ค่าสมัครสอบในแต่ละวิชา กับค่าเคลียริงเฮาส์"
ด้าน นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ในฐานะประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า ทปสท.เห็นด้วยกับระบบดังกล่าวและคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ระบบคัดเลือกแบบเดิม ซึ่งทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงจำนวนมาก เด็กต้องเตรียมตัวเพื่อสอบรับตรงตั้งแต่ ม.5 ทำให้เป็นภาระต้องวิ่งรอกสอบและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
ทั้งนี้ในส่วน มรภ.อยากให้เข้าร่วมรับเด็กผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ ซึ่งเชื่อว่าคงไม่กระทบมากนักเพราะปัจจุบัน ก็รับเด็กหลังมหาวิทยาลัยรัฐอยู่แล้ว อีกทั้ง มรภ. เองก็คงต้องปรับตัวเพิ่มคุณภาพ และเน้นจัดการเรียนการสอนในสาขาที่ถนัดและมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นเพื่อให้เด็กเลือกสมัครเข้าเรียน
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับข้อความแสดงความคิดเห็นจำนวนมากมาย ซึ่งตนขอให้คณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่ม ซึ่งมี ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม เป็นประธานคณะทำงานสรุปรายงานการประชุมต่อคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่ม ซึ่งจะประชุมเดือนหน้าและคาดว่าน่าจะมีการประชุมเรื่องนี้กันในการประชุม ทปอ.ครั้งต่อไป เพราะขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลายมาก
ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า ควรต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประชุมร่วมกันทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก เพราะอาจสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับมหาวิทยาลัยที่มีขนาดแตกต่างกัน ขณะเดียวกันการใช้ข้อสอบกลางร่วมกันทั้งวิชาสามัญ 9 วิชา และ GAT/PAT เป็นข้อเสนอของ ทปอ.และ ทปอ.ก็เห็นด้วยแต่ที่เป็นห่วงคือการที่ไม่มีคะแนนจากโรงเรียน ทั้งคะแนนโอเน็ตและคะแนนจีแพ็กซ์ เด็กก็จะมุ่งสอบและกวดวิชา 9 วิชา และ GAT/PAT มากขึ้น และจะทำให้ปัญหาการทิ้งห้องเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามแก้ไขมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อแอดมิชชั่นฟอรั่มสรุปการประชุมกับ ศธ.แล้ว ตนและ ทปอ.จะขอเข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อหารือและสะท้อนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกครั้ง.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ วันที่ 26 สิงหาคม 2559