โดย เพชร เหมือนพันธุ์
โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยสัญญาณ Y2K มาได้ 16 ปีแล้ว ประเทศไทยเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ 7 เดือน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เกิดขึ้น ได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงคือ พลังของนวัตกรรม ไฮ เทคโนโลยีต่างๆ คอมพิวเตอร์ สื่อสารสังคมออนไลน์ ที่สามารถแทรกซึมลึกเข้าไปอยู่ในทุกหมู่บ้าน ทุกครอบครัว ทุกตัวบุคคล และทุกอณูของสังคม
ปฏิกิริยาการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพื่อการแข่งขันได้เกิดขึ้นทุกมุมโลก เวทีของการแข่งขันจึงมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมีความรุนแรงรวดเร็วและก้าวกระโดด
ทักษะที่จำเป็นในการต่อสู้เพื่อให้การดำรงชีวิตคงอยู่และการแข่งขันของมนุษย์ในยุคนี้จึงต้องปฏิวัติไม่ใช่ปฏิรูป ต้องเอาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรที่สำคัญและจำเป็นต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงคือ ทรัพยากรมนุษย์ เครื่องมือที่ใช้พัฒนาคือการศึกษา
ระบบโรงเรียน ระบบสถาบันการศึกษา ระบบเนื้อหารายวิชาในหลักสูตร ระบบการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้สมัยศตวรรษที่ 19-20 ได้ตกยุคไปแล้ว ต้องยกเลิกหรือรื้อระบบ ต้องเปลี่ยนแปลงการสอนความรู้ในห้องเรียน ให้ ผู้เรียนได้ฝึกลงมือปฏิบัติจริงในสนามรบ รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง คู่แข่งขันของเราในโลกใบนี้คือใคร
ดูเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ มาเลเซีย การศึกษาเขามีสถิติที่เหนือกว่าเรา คนของเขาทำงานในระดับหัวหน้าองค์กรอยู่ทั่วอาเซียน และหลายแห่งในโลก ฟิลิปปินส์ คุณภาพการศึกษาเขา ไม่ได้ด้อยกว่าเรา โครงสร้างทางการศึกษาเดิมเขาดีกว่าเรา เวียดนาม ตามหลังเรามาติดๆ กำลังแซงหน้าไปแล้วหลายเรื่อง ลาว เขมร พม่า เราประมาทไม่ได้ เขาสามารถสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตได้เท่ากับเรา
หลายประเทศ หลายสถาบันการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นี้ กำลังสร้างนวัตกรรมการจัดการศึกษาให้ก้าวทันทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีตัวอย่าง มีต้นแบบ ให้ดูดังนี้
โรงเรียนที่มาแรงสุดในศตวรรษที่ 21 ในเยอรมนี คือ The Evangelical School Berlin Centre : ESBC ปรัชญาของโรงเรียนแห่งนี้คือ เมื่อตลาดแรงงานมีความต้องการที่เปลี่ยนไป อินเตอร์เน็ต มือถือเข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ทักษะสำคัญที่โรงเรียนจะมอบให้นักเรียน คือ ความสามารถในการ กระตุ้นและผลักดันให้นักเรียนสามารถสร้างจูงใจให้ตนเองได้ (The most important skill a school can pass down to its students is the ability to motivate themselves.) โรงเรียนแห่งนี้เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2007 จากนักเรียน 16 คน ปัจจุบันนี้มี 500 คน รูปแบบของโรงเรียนคือ No grades, no timetable, Berlin School turns teaching upside down. ไม่มีชั้นเรียน ไม่มีตารางสอน สอนแบบกลับหัวกลับหาง มีวิชาบังคับเพียง 4 วิชา คือ เลขคณิต ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และวิชาสังคมศึกษา มีวิชาเลือก ที่มีชื่อแปลกๆ เช่น วิชาความรับผิดชอบ (Responsibility) วิชาความท้าทาย (Challenge) ในวิชาความท้าทาย โรงเรียนจะมอบเงินให้นักเรียนที่มีอายุ 12-14 ปี คนละ 150 ยูโร (6,000 บาท) เพื่อให้นักเรียนได้ไปผจญภัย โดยนักเรียนต้องเป็นคนวางแผนเอง เช่น การออกเดินป่า (Trekking)
ไม่มีการคิดเกรดให้นักเรียนจนกว่าอายุครบ 15 ปี ไม่มีครูสอนออกไปยืนสอนหน้าห้อง นักเรียนจะตัดสินใจเองว่า แต่ละชั้น แต่ละระดับจะเรียนอะไร อยากจะสอบวันไหน ส่วนครูทำหน้าที่เป็นโค้ช พันธกิจของโรงเรียนคือ เตรียมความพร้อมให้กับหนุ่มสาวเพื่อต้อนรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนมีหน้าที่สร้างคนที่มีบุคลิกที่เข้มแข็งมีความเชื่อมั่นในตนเอง เพื่อให้สามารถพัฒนางานของตนเองได้ นักเรียนจะค้นพบประโยชน์จากรายวิชาที่เขาเรียนได้ด้วยตนเอง เด็กที่โรงเรียนผลิตออกมามีคุณภาพสูงมาก เด็กที่จบ ม.3 จะได้เกรด B ทุกวิชา หรือได้คะแนน 3.00 ขึ้นไป ESBC ขณะนี้มีโรงเรียนเข้าร่วมในเครือข่ายแล้ว จำนวนมากถึง 40 โรงเรียน
ดูโรงเรียนต่อไปที่กล้าเปลี่ยนแปลง คือ โรงเรียน Blue School ตั้งอยู่ในเมือง New York, USA. มี Concept ของโรงเรียนว่า ความคิดสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ เน้นการเรียนการสอนแบบโลกจริง
สอนรีไซเคิลของเก่าให้กลับมาใช้ใหม่ ซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ในบ้านได้ เป็นพลวัตไปกับสังคมโลกจริง
โรงเรียนที่สามชื่อ โรงเรียน Steve Jobs School ตั้งอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ โรงเรียนจะเน้นทักษะเฉพาะตัวของเด็ก โดยดูจากแววอัจฉริยะ ครูจะถูกเรียกว่าโค้ช โค้ชจะเป็นผู้แนะนำ เด็กๆ จะได้รับการฝึกฝนให้พบทักษะการเรียนรู้ที่ท้าทาย
โรงเรียนที่สี่ชื่อโรงเรียน P-Tech ตั้งอยู่ใน Brooklyn New York, USA. เป็นโรงเรียนผสมแบบ Hybrid ผสมกันระหว่าง ม.ปลาย กับวิทยาลัย ลงทุนโดยบริษัทไอบีเอ็ม เพื่อให้เด็กที่สนใจได้เรียนรู้โดยไม่ต้องเรียนในเวลาปกติ เด็กเรียนควบ ม.ปลายกับวิทยาลัย ใช้เวลา 6 ปี
โรงเรียนที่ห้าอยู่ใกล้บ้านเรา ชื่อโรงเรียน Sra Pou Vocational ในประเทศเขมร โรงเรียนออกแบบโดยสถาปนิกจากฟินแลนด์ ก่อสร้างโดยแรงงานของคนงานในพื้นที่ ครูคือเอ็นจีโอที่อาสามาสอน Concept ของโรงเรียนคือ ต้องการให้โรงเรียนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชน ชาวบ้านได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการก่อสร้างจากสถาปนิก พื้นที่ของโรงเรียนยังแบ่งให้เป็นตลาดของชุมชน ชาวบ้านสามารถนำสินค้าแฮนด์เมดมาขายได้
หันกลับมามองบ้านเรา ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ผู้รับผิดชอบในระดับยอดพีระมิด ต้องกล้าที่จะชี้นำ ต้องมีพิมพ์เขียวในการเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ชัดเจน เรารู้ร่วมกันว่าโลกก็ไม่รอเราแล้ว เราต้องสร้างเรือเร็วแทน เรือบรรทุกสินค้า บุคคลในวงการศึกษาคือ ครูต้องมีอิสระทางวิชาการ โรงเรียนต้องมีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลง คำว่านิติบุคล คือความสามารถในการตัดสินใจและรับผิดชอบต่อวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ สามารถสั่งการ สามารถใช้เงินของโรงเรียนได้ตามแผนงาน ของโรงเรียน สามารถตัดสินใจในการเปลี่ยน แปลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทัน
ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ถ้ายังไม่เปลี่ยน แปลงหลักสูตร ไม่ปรับลดเนื้อหารายวิชา มันก็ลดเวลาเรียนไม่ได้ เพิ่มเวลารู้ถ้าไม่เอาเวลาที่ลดลงไปฝึกปฏิบัติงานในภาคสนาม หรือไป จัดกิจกรรมที่มีโครงสร้าง การเพิ่มเวลารู้ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ระดมทรัพยากรมาร่วมมือการปฏิรูปการศึกษา โดยดึงเอานักธุรกิจที่มีต้นทุนสูงและมีชื่อเสียงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษามาถึง 12 องค์กร โดยมีคุณศุภชัย เจียรวานนท์ เป็นหัวหน้าทีม ทีมงาน ได้แก่ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ซีพีออล เจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล ไทยยูเนียนกรู๊ฟ ปตท. ธ.ไทยพานิชย์ ธ.กรุงเทพ ปูนซิเมนต์ SCG ไทยเบฟเวอเรจ และเบอร์รี ยุคเกอร์ ทั้ง 12 องค์กรที่ยื่นมือเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการศึกษา ท่านได้ช่วยสนับสนุนงบประมาณและกำลังความคิด โดยได้นำเสนอ 10 ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย
ครับเอาใจช่วยแต่ผู้ที่จะต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ คือ โรงเรียน คือ ผู้บริหารสถานศึกษา คือครูผู้สอน ท่านรัฐมนตรีต้องกล้าถอดเครื่องประดับที่พะรุงพะรังรอบตัวครูรอบตัวโรงเรียนออกเสียก่อน ก่อนที่จะให้สวมชุดใหม่ เช่น การประเมินมาตรฐานการศึกษาของ สมศ. การประเมินวิทยฐานะผลงานวิชาการจากเอกสารของครู การให้ศึกษานิเทศในเขตพื้นที่การศึกษาดึงครูออกจากโรงเรียนจากห้องเรียนเพื่อไปอบรมรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน จนไม่เป็นอันสอน แก้ให้ถูกปัญหา
ถ้ายังไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไรให้กลับไปดูต้นแบบความสำเร็จที่มีอยู่ทุกมุมของโลก
เด็กไทยโดยธรรมชาติ ไม่ได้โง่กว่าเด็กในชาติอื่น อายุ 1-3 ขวบยังมีความมั่นใจในตนเองสูง พอเข้าไปสู่ระบบโรงเรียน ความมั่นใจของเด็กไทยเริ่มหายไป ขึ้นชั้น ป.1-ป.4 ควรจะอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ คิดเลขเป็น ก็ไม่ทราบว่าทางสถาบันการศึกษาไปจับยัดสาระการเรียนรู้ที่มากมายถึง 8 สาระตามหลักสูตรให้เรียน แก้วน้ำเล็กๆ คงรับน้ำที่ผู้ใหญ่เทกรอกมาให้ไม่ได้ทั้งหมด การเรียนทั้ง 8 สาระจึงเป็นการสูญเปล่า ทักษะที่สำคัญและจำเป็นจริงๆ เด็กกลับไม่ได้ฝึกปฏิบัติให้ เกิดความเชี่ยวชาญ ความมั่นใจของเด็กก็หดหายไป แรงบันดาลใจก็มอดดับ เด็กไทย จึงต้องรอรับโอวาท รอรับคำแนะนำ คิดเองไม่ได้คิดวิเคราะห์ไม่เป็นเพราะผู้ใหญ่คิดให้หมดแล้ว
พอขึ้นชั้นประถมปลาย แววแห่งความใฝ่ฝันที่จะโตเป็นวัยรุ่นก็ที่มีความใฝ่ฝันก็ไม่เกิด เพราะตลอดภาคเรียน ตลอดปีการศึกษา ตลอดสามปีการศึกษาที่นั่งฟังครูสอนในห้อง อย่างเดียว พอให้ลงมือทำก็ทำไม่เป็น ทั้งๆ ที่ ร่างกายของเด็กในวัยนี้กำลังจะมีการเปลี่ยน แปลง ความเป็นเพศสภาพเริ่มปรากฏ แต่ก็ ถูกปิดทับไปด้วยเครื่องแบบนักเรียนถูกปิดทับไปด้วยสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระ ถูกปิดทับไปด้วยความถูกต้องของครู
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะเวลา 3 ปี เป็นช่วงที่เด็กไทยโชคร้ายที่สุดเพราะเด็กถูกปล่อยปละละเลยครูไม่ให้ความสนใจ ในโรงเรียนขยายโอกาสเด็กกลุ่มนี้อาจโชคดีอยู่บ้างที่มีผู้บริหารและครูให้ความใส่ใจแต่ในโรงเรียนที่มีทั้ง ม.ต้นและ ม.ปลาย เด็กกลุ่มนี้จะถูกครูทิ้ง เพราะครูทุกคนจะหันไปเน้นความสนใจที่เด็ก ม.ปลายที่จะเตรียมตัวเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น เขาจะให้ความสนใจกับนักเรียนชั้น ม.ต้นมาก
เด็กในวัยรุ่นตอนต้นเป็นเด็กที่มีความอยากดู อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากช่วย เขาควรต้องได้รับการฝึกการทำงานในภาคสนาม ในสถานประกอบการจริง ได้ทำโครงงาน ที่เขาพัฒนาขึ้นมาเอง เด็กต่างชาติในระดับ ม.ต้น จะได้ออกไปศึกษานอกสถานที่ ในสถานประกอบการ ได้ฝึกงานจริง ได้สัมผัสกับโลกของการทำมาหากิน จนรู้จักตนเอง จนรู้ว่าตนเองควรจะประกอบอาชีพอะไรในอนาคต
ในชั้น ม.ปลาย เด็กทุกคนรู้แล้วว่าตนเองได้ วางแนวทางอนาคตอย่างไร แล้วก็ทุ่มเทเดินไปตามทางที่ตนเอง ผู้ปกครองและครูได้ช่วยให้คำแนะนำแล้ว แต่เด็กไทยจำนวนไม่มากที่รู้ว่าตนเองจะประกอบอาชีพอะไรในระดับชั้น ม.ปลาย
หรือประเทศไทยของเรากำลังขาดนักวิชาการทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราไม่มีนักการศึกษาระดับนี้เลย ถ้าการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่อนแอแล้วการศึกษาในระดับสูงขึ้นจะอยู่ได้อย่างไร เศร้าจริงๆ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน