ทำเนียบรัฐบาล - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Super Board) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2559 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก เข้าร่วมประชุม
รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีโอกาสนำเสนอการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในรอบ 2 ปี ที่ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งขาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา (Super Board) ได้รับทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินนโยบายอะไรบ้าง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ
- การกลับไปพิจารณาการผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ในอดีตเคยเป็นวิทยาลัยครู ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าครูที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยครู ถือว่า "สุดยอด" กล่าวคือ เป็นครูที่มีคุณภาพ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรมีแนวทางดำเนินการให้ครูที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน กลับมามีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับแบบในอดีตได้ ซึ่งข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้แต่ละสถาบันอุดมศึกษามีจุดเด่นของตนเอง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏควรมีความสามารถในการผลิตบัณฑิตจบออกมาเป็นครูที่มีคุณภาพ เป็นต้น
- การดำเนินนโยบายแบบมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ให้ระบุรายละเอียดความร่วมมือมากกว่าเดิม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตลอดจนภาคเอกชน จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในด้านใดได้บ้าง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและรู้ว่าต้องดำเนินการอะไร
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดทำแผนและผลการดำเนินงาน โดยระบุว่าภายในปี 2560 จะดำเนินนโยบายอะไรให้แล้วเสร็จบ้าง หากนโยบายใดที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้ระบุว่าดำเนินการไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น นโยบายการผลิตและพัฒนาครู, ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ, การแก้ปัญหาการทุจริต เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงการผลิตครูในระบบปิด หรือการให้โควตาผลิตครูกับสถาบันอุดมศึกษาและผลิตบัณฑิตซึ่งจบออกมาเป็นครูและมีงานรองรับ ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีการผลิตครูในระบบปิด ร้อยละ 25 ซึ่งเป็นครูจากโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพราะเด็กที่สอบผ่านและจบการศึกษาจะสามารถประกอบอาชีพครูได้อย่างแน่นอน ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่รับเด็กในโครงการเข้าศึกษาจะได้เงินสนับสนุนเท่าจำนวนรายหัวของเด็ก จึงต้องทำให้เด็กจบออกมาเป็นครูอย่างมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม การผลิตและพัฒนาครูนั้นต้องเริ่มจากการปรับหลักสูตรครูให้ได้ก่อน อีกทั้งการผลิตครูในระบบปิดต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน เนื่องจากต้องจัดสรรจำนวนตำแหน่งหรืออัตราให้กับผู้ที่ไม่ได้เรียนครู แต่มาเรียน ป.บัณฑิต เพื่อให้ได้รับวุฒิครู เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความสามารถเช่นกัน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ขอบคุณภาพถ่าย : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
19/8/2559
ขอบคุณที่มาจาก กระทรวงศึกษาธิการ 19 ส.ค.2559