ยึดต้นแบบ วค.ในอดีตสร้างสุดยอดแม่พิมพ์ จี้มหาวิทยาลัยโชว์จุดเด่น
จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้นำเสนอที่ประชุมได้ทราบว่าในรอบ 2 ปีที่รัฐบาลเข้ามา ศธ.ได้ดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาด้านใดไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ซึ่งภาพรวม นายกฯ เห็นด้วยพร้อมมอบให้ ศธ.ไปดูว่าจะทำอย่างไรให้การผลิตครูกลับมามีคุณภาพเหมือนเช่นในอดีตที่เป็นวิทยาลัยครู (วค.) ทั้งขอให้ ศธ.ไปจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ให้ชัดเจนว่าต้องการให้หน่วยงานใดสนับสนุนเรื่องใด
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ด้านการผลิตครูนั้น นายกฯ ได้มอบนโยบายให้ ศธ.หาวิธีผลิตครูให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพสอดคล้องกับแนวคิดของตนเช่นกัน ที่ผ่านมาเมื่อระบุถึงคณะอักษรศาสตร์ ก็จะนึกถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากเป็นคณะบัญชี ก็ต้องเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือนิติศาสตร์ ก็มุ่งไปที่ มธ.และมหาวิทยาลัย รามคำแหง เป็นต้น ตนต้องการให้เกิดภาพลักษณ์แบบนี้ทุกมหาวิทยาลัย โดยทุกแห่งมีจุดเด่น ไม่เช่นนั้นจะให้สนับสนุนงบเป็นเบี้ยหัวแตกไม่ไหว ซึ่ง มรภ.ต้องโดดเด่นเรื่องของการผลิตครู เบื้องต้นตนได้หารือกับอธิการบดี มรภ.หลายแห่ง ก็เห็นสอดคล้องตามแนวคิดนี้
“ส่วนในอนาคตจะมีการผลิตครูระบบปิดหรือไม่นั้น เนื่องจากประเทศเรามีระบบการผลิตที่ค่อนข้างใหญ่อาจจะทำได้ยาก แต่ขณะนี้ที่ ศธ.ทำโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่กันอัตราไว้ 25% ก็ถือการผลิตระบบปิดอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มอบหมายให้ที่ประชุมอธิการบดี มรภ.แห่งประเทศไทย ไปปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูทั้งระบบ หากดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและทุกฝ่ายดำเนินการตามนี้ อนาคตการผลิตครูระบบปิดก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่จะค่อยๆทำ เพราะต้องมีอัตราไว้สำหรับผู้ที่เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ด้วย” รมว.ศึกษาธิการกล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ วันที่ 20 สิงหาคม 2559