“ชินวรณ์ ”ห่วงศธ.ติดกับดักปฎิรูปการศึกษาเดิมที่เน้นโครงสร้าง จะทำให้การศึกษาถอยหลัง20 ปี ชี้ต้องปฎิรูปผู้เรียนก่อนอันดับแรก และทำแบบองค์รวม ย้ำอย่าอ้างทุจริตแล้วดึงอำนาจสู่ส่วนกลาง
วันนี้(17 ส.ค.)นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้ติดตามเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แล้วเป็นห่วงใน 4 ประเด็น คือ 1.กระบวนการปฎิรูปโครงสร้าง ศธ.ที่อาจจะติดกับดักของการปฎิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมา สุดท้ายผลประโยชน์ก็ไม่ถึงตัวนักเรียน 2.เมื่อดูรายละเอียดของโครงสร้างใหม่ พบว่า เป็นการถอยหลังไป20ปี เพราะมีแนวคิดบริหารแบบซิงเกิ้ลคอมมานด์ หรือ การบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จที่ส่วนกลาง ซึ่งขัดกับหลักการปฏิรูปการศึกษาขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เช่น ให้เน้นคุณภาพ แต่โครงสร้างดังกล่าวไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน และไม่กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาอย่างแท้จริง
นายชินวรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่ 3.การปฎิรูปการศึกษาไม่ใช่การลองผิดลองถูก โดยเฉพาะการปฎิรูปโครงสร้างนั้น ควรจะทำหลังจากปฎิรูปคุณภาพผู้เรียนแล้ว หากมีปัญหาอุปสรรคจึงค่อยมาปฎิรูปโครงสร้าง และ4.หากจำเป็นต้องปฎิรูปโครงสร้าง เช่น การให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ตั้งเป็นกระทรวงหรือทบวงนั้น ควรใช้เวลาในการศึกษาวิจัย และเปรียบเทียบกับหลักสากลเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ต่อข้อถามถึงแนวทางการกระจายอำนาจที่ผ่านมาพบปัญหาการทุจริต เช่น การโยกย้ายครู จึงต้องดึงอำนาจกลับสู่ส่วนกลาง นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมีอยู่จริง แต่เป็นกระบวนการที่ผู้มีอำนาจต้องเข้าไปแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริง จัง นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่านำเรื่องการทุจริตมาเป็นข้ออ้างในการแก้ไขหลักการการกระจายอำนาจ ซึ่งที่ผ่านการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในภูมิภาค และคำสั่ง คสช. ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของ ศธ.ในภูมิภาค เป็นการแก้ปัญหาเพียงเสี้ยวเดียว ดังนั้น ขอให้ปฎิรูปการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้การปฎิรูปการศึกษาเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบนี้.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2559 เวลา 12.30 น.