รมว.ศึกษาธิการ ถกแก้ปัญหาเงินอุดหนุนรายหัวเด็กถูกใช้เป็นค่าน้ำ-ค่าไฟ ผลวิจัยมธ.ชี้ต้องเพิ่มค่าสาธารณูปโภคอีกประมาณพันล้าน สั่ง สพฐ.คัดกรองเด็กยากจนใหม่
วันนี้ (16 ส.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาวิจัยสำรวจค่าใช้จ่ายพื้นฐานของโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อหาตัวเลขค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่เหมาะสมของโรงเรียนในแต่ละขนาด ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ทำการวิจัยมาตามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลังพบว่า โรงเรียนได้นำงบประมาณของเงินอุดหนุนรายหัว ในรายการค่าใช้จ่ายการจัดการเรียนการสอน ของโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในส่วนนี้ สพฐ.ได้กำหนดให้จ่ายเป็นค่าสาธารณูปโภค หรือ ค่าน้ำ ค่าไฟไม่เกิน 5% แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เกินอยู่มาก โดยแต่ละปีโรงเรียนต้องจ่ายเงินค่าน้ำ-ค่าไฟ ประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่ผลสำรวจเบื้องต้นของ มธ.คาดว่าจะต้องใช้งบฯส่วนนี้เพิ่มไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงการใช้ไฟฟ้าในแอร์ คอมพิวเตอร์ และอื่นๆด้วย ไม่ใช่สำรวจการใช้ไฟฟ้าทั่วไปตามขนาดของโรงเรียนเท่านั้น ทั้งนี้ จะยังไม่ขอเงินรัฐบาลเพิ่มเติม แต่ ศธ.จะบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเองก่อน
“ ทุกโรงเรียนต้องช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ดังนั้น แนวทางที่เราจะดำเนินการนั้นต้องไม่เบียดบังเงินรายหัวของเด็ก แต่ที่ผ่านมางบฯเงินอุดหนุนรายหัวไปรวมอยู่กับค่าบริหารจัดการโรงเรียน ซึ่งผมต้องการให้แยกออกมาเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสังคมจะได้ทราบว่า เงินอุดหนุนรายหัวของเด็กถูกแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนไหนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งจะทำให้การบริหารเงินมีทิศทางมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริหารโรงเรียนไม่นำเงินไปจ่ายอย่างอื่นด้วย ส่วนจะเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ปกครองหรือไม่นั้น ผมยังตอบไม่ได้ เพราะบางครั้งก็เป็นความต้องการของผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานได้เรียนในที่ดีๆ ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงการดูแลเด็กพิการเรียนร่วมปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3 แสนคนให้ได้รับการดูแล 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การจัดหาครูผู้ช่วย และ การจัดหาสื่อการเรียนการสอนพิเศษ คาดว่าจะต้องใช้งบฯ 196 ล้านบาท ซึ่งเร็วๆนี้ ตนจะหารือกับผู้จัดการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อนำงบฯมาจัดสรรให้ คาดว่าจะดำเนินการได้ในภาคเรียนที่ 2 /2559 นี้ นอกจากนี้ ศธ.จะสำรวจและคัดกรองเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจนใหม่ เพื่อให้ได้ตัวเลขแท้จริง โดยนำตัวเลขผู้ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ" หรือ ลงทะเบียนคนจน ที่ปัจจุบันมีลงทะเบียนประมาณ 5 ล้านคน มาประกอบการพิจารณากับตัวเลขเด็กยากจนของ ศธ.ที่มีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านคน ซึ่งเด็กยากจนโรงเรียนจะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่ม หรือ ท็อปอัพ คนละ 3,500 บาทต่อปี.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2559 เวลา 14.16 น.