นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม
มติที่ประชุมในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ 5 เรื่อง คือ 1) การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา 2) การคัดเลือกรองผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา 3) การย้าย ผอ. และรอง ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 4) การคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) และ 5) การสอบครูผู้ช่วย
1) เห็นชอบกรอบระยะเวลาการย้าย ผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ.
ที่ประชุมเห็นชอบกรอบระยะเวลา การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะให้มีผู้บริหารไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาที่มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาว่าง จากการเกษียณอายุราชการได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 (วันที่ 1 พฤศจิกายน) โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการใหม่ ดังนี้
การดำเนินการ
|
กรอบเวลาเดิม
|
กรอบเวลาใหม่
|
1. การส่งคำร้องขอย้าย
|
ส่งคำร้องฯ ไปต่างเขต ภายในวันที่ 15 กันยายน
|
ส่งคำร้องฯ ไปจังหวัดอื่น ภายในวันที่ 31 สิงหาคม
|
2. การขอความเห็นจากคณะกรรมการสถานศึกษาของสถานศึกษาที่รับย้าย
|
ภายในวันที่ 30 กันยายน
|
ภายในวันที่ 15 กันยายน
|
3. การพิจารณาคำร้องขอย้ายไปตำแหน่ง
ที่จะว่างเนื่องจากเกษียณอายุราชการและตำแหน่งว่างกรณีอื่นๆ
|
ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน
|
ภายในวันที่ 25 ตุลาคม
|
2) เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สพฐ.
ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ทั้งในพื้นที่ปกติ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สังกัด สพฐ. (ว 19/2557 และ ว20/2557) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และมีมาตรฐานเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ข้อความเดิม
ตาม ว 19/2557 และ ว20/2557
|
กำหนดใหม่
|
หลักเกณฑ์
บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ใช้ได้ไม่เกินสองปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เว้นแต่มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งใหม่แล้ว บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งก่อนเป็นอันยกเลิก
|
หลักเกณฑ์
บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ใช้ได้ไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เว้นแต่มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งใหม่แล้ว บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งก่อนเป็นอันยกเลิก
ทั้งนี้ ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกของ กศจ. ไม่มีผลให้บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่มีอยู่เดิมถูกยกเลิก และให้อายุการขึ้นบัญชีของผู้ได้รับการคัดเลือกของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเหลือเท่ากับอายุการขึ้นบัญชีที่กำหนดไว้เดิม
|
หลักสูตร
กลุ่มทั่วไป (คะแนน 300 คะแนน)
ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป (200 คะแนน)
1. ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน (100 คะแนน)
2. ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (100คะแนน)
ภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (100 คะแนน)
1. ประเมินผลการปฏิบัติงาน (50 คะแนน)
2. สัมภาษณ์ (50 คะแนน)
|
หลักสูตร
กลุ่มทั่วไป (คะแนน 350 คะแนน)
ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป (250 คะแนน)
1. ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน (100 คะแนน)
2. สมรรถนะทางการบริหาร (50 คะแนน)
3. ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (100คะแนน)
ภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (100 คะแนน)
- กำหนดเหมือนเดิม -
|
กลุ่มประสบการณ์ (คะแนนเต็ม 250 คะแนน)
ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป (100 คะแนน)
1. ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน (50 คะแนน)
2. ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (50 คะแนน)
ภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (150 คะแนน)
1. ประเมินผลการปฏิบัติงาน (100 คะแนน)
2. สัมภาษณ์ (50 คะแนน)
|
กลุ่มประสบการณ์ (คะแนน 300 คะแนน)
ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป (150 คะแนน)
1. ความรู้ทั่วไปและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน (50 คะแนน)
2. สมรรถนะทางการบริหาร (50 คะแนน)
3. ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (50คะแนน)
ภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (150 คะแนน)
- กำหนดเหมือนเดิม -
|
3) เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ การย้าย ผู้บริหารการศึกษา สพฐ.
เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา สพฐ. ในปัจจุบัน (ว18/2558) ได้กำหนดให้มีการย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มี 4 กรณี คือ 1) การย้ายกรณีปกติ ได้แก่ กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี 2) การย้ายกรณีพิเศษ ได้แก่ การย้ายเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง ถูกคุกคามต่อชีวิต หรือเพื่อดูแลบิดามารดา คู่สมรส บุตร ซึ่งเจ็บป่วยร้ายแรง 3) การย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ ได้แก่ เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการศึกษา หรือเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 4) การย้ายเพื่อเกลี่ยอัตรากำลัง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ ซึ่งการย้ายทุกกรณี ตามหลักเกณฑ์เดิม ให้มีการประเมินความรู้ความสามารถฯ ทำให้ขาดความคล่องตัวในการพิจารณาการย้าย
ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษา ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา สพฐ. เฉพาะการย้ายกรณีปกติ ดังนี้
หลักเกณฑ์เดิม
|
แก้ไขเป็น
|
ข้อ 11 “ในการพิจารณาการย้ายผู้บริหารการศึกษาทุกกรณี ให้ผู้บังคับบัญชาประเมินความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารจัดการศึกษา การรักษาวินัยและจรรยาบรรณวิชาชีพ การมีวิทยฐานะ อายุตัว อายุราชการ ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและระยะเวลาปฏิบัติงานในหน่วยงานการศึกษาปัจจุบัน และผลการปฏิบัติงานของผู้ที่ส่วนราชการประสงค์จะให้ย้ายหรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ” |
ข้อ 11 “ในการพิจารณาการย้ายผู้บริหารการศึกษาเฉพาะการย้ายกรณีปกติ ให้ผู้บังคับบัญชาประเมินความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการบริหารการจัดการศึกษา การรักษาวินัย และจรรยาบรรณวิชาชีพ การมีวิทยฐานะ อายุตัว อายุราชการ ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและระยะเวลาปฏิบัติงานในหน่วยงานการศึกษาปัจจุบัน และผลการปฏิบัติงานของผู้ที่ส่วนราชการประสงค์จะให้ย้าย หรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ” |
4) เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ การคัดเลือก บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2)
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ โดยมีเหตุผลเพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป มีความก้าวหน้า และสร้างขวัญกำลังใจ
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อใช้ในการดำเนินการคัดเลือกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 หรือ พ.ศ. 2560 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การดำเนินการคัดเลือก
-
ให้ สพฐ. กำหนดวัน เวลา ในการคัดเลือก (เหตุผล เนื่องจากเป็นหน่วยงานต้นสังกัด และเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ จึงควรเป็นผู้กำกับการดำเนินการในภาพรวม)
-
ให้ กศจ. เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก รวมทั้งเป็นผู้ออกข้อสอบทั้ง 3 ภาค ตามหลักสูตรท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ (เหตุผล เพื่อให้การคัดกรองตรงตามสภาพ และความต้องการของแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเป็นไปตามการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค)
2. ตำแหน่งที่ใช้คัดเลือก
-
เป็นตำแหน่งว่างที่มีอัตราเงินเดือน ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือในสถานศึกษา ตามกรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ.กำหนด (เหตุผล เพื่อต้องการคงตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของตำแหน่งประเภททั่วไป)
-
ให้ กศจ. พิจารณาใช้ตำแหน่งตามความเหมาะสม (เหตุผล เพื่อให้เป็นไปตามสภาพข้อมูลของตำแหน่งและบุคคล และความต้องการของแต่ละจังหวัด)
3. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
-
เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.
-
ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่ง นับถึงวันเปิดรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย
-
เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ที่รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
4. การสมัครเข้ารับการคัดเลือก ให้สมัครในจังหวัดได้เพียงจังหวัดเดียว และตำแหน่งเดียว (เหตุผล เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรได้เลือกตำแหน่งและหน่วยงานและให้ตรงกับความต้องการจำเป็น)
5. เกณฑ์การตัดสิน ผู้สอบคัดเลือกได้ต้องได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ (เหตุผล เพื่อให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นมาตรฐานเดียวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกอื่น)
6. การบรรจุและแต่งตั้ง
-
ให้บรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งว่างที่มีอัตราเงินเดือน
-
ให้บรรจุและแต่งตั้งเรียงตามลำดับที่ ให้ครบตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศรับสมัคร โดยไม่มีการขึ้นบัญชี
-
ให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แต่ต้องไม่สูงกว่าขั้นสูงของระดับปฏิบัติการ
-
ให้มีผลไม่ก่อนวันที่ออกคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
5) เห็นชอบให้ปรับปรุงแนวทางหลักเกณฑ์ฯ การสอบแข่งขัน ครูผู้ช่วย
ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงแนวทางหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย เพื่อให้การบริหารงานบุคคลเป็นไปตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้มีการจัดสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกส่วนราชการ รวมทั้งเพื่อให้สถานศึกษามีอัตรากำลังข้าราชการครูเพียงพอต่อความต้องการ และทันกำหนดการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560โดยแนวทางที่จะปรับปรุง สรุปดังนี้
1. การสอบแข่งขัน แบ่งเป็นภาค ก ภาค ข และภาค ค
2. ผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน
- ภาค ก ให้ ก.ค.ศ. หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นที่ ก.ค.ศ. มอบหมาย เป็นผู้ดำเนินการสอบ
- ภาค ข และ ภาค ค ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการสอบ
3. กำหนดวันเวลาในการสอบ
- ภาค ก ให้ ก.ค.ศ. หรือส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นที่ ก.ค.ศ. มอบหมาย เป็นผู้กำหนดวันเวลาในการสอบ
- ภาค ข และ ภาค ค ให้ส่วนราชการ เป็นผู้กำหนดวันเวลาในการสอบ
4. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ
- ภาค ก
1) ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30
2) ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่ง ครูผู้ช่วย
3) ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่น ที่ได้รับการรับรองจาก ก.ค.ศ. ไม่หลังวันรับสมัครวันสุดท้าย
- ภาค ข และ ภาค ค กำหนดเหมือนภาค ก แต่เพิ่มอีก 1 ข้อ คือ "ต้องมีหนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ภาค ก ที่ยังไม่ครบอายุการขึ้นบัญชี"
5. หลักสูตรการสอบแข่งขัน แบ่งออก เป็น 3 ภาค
- ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และอุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และความรู้อื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่
- ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
- ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ
6. ค่าธรรมเนียมในการสมัคร
- ภาค ก ค่าธรรมเนียม 200 บาท
- ภาค ข และ ภาค ค ค่าธรรมเนียม 300 บาท
7. การดำเนินการสอบ ภาค ก ภาค ข และ ภาค ค
1) ประกาศรับสมัครไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
2) รับสมัครสอบแข่งขันไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ไม่เว้นวันหยุดฯ ด้วยการยื่นสมัครด้วยตนเองหรือยื่นสมัครทางอิเล็กทรอนิกส์
3) กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร คุณสมบัติฯ
4) ให้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบแข่งขัน
5) ผู้ดำเนินการสอบฯ อาจตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
8. เกณฑ์การตัดสิน
- ภาค ก ใช้เกณฑ์ “ผ่าน” โดยต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ จึงจะออกหนังสือรับรองผลการสอบผ่านให้
- ภาค ข และ ภาค ค ต้องได้คะแนนแต่ละภาคไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ จึงจะถือว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้
9. การประกาศรายชื่อ
- ภาค ก ให้ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน โดยต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ และให้ออกหนังสือรับรองผลให้แก่ผู้สอบผ่าน เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการสมัครสอบ ภาค ข และ ภาค ค
- ภาค ข และ ภาค ค ให้ประกาศรายชื่อเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยให้เรียงลำดับที่จากผู้ที่ได้คะแนนรวมทั้ง 2 ภาค จากมากไปหาน้อย
10. อายุหนังสือรับรองผลการสอบ ภาค ก หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ภาค ก ให้ใช้ได้ไม่เกินห้าปี นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน หากได้รับการบรรจุและแต่งตั้งฯแล้ว หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ภาค ก ทุกฉบับ ที่ออกก่อนวันบรรจุและแต่งตั้งเป็นอันยกเลิก
11. อายุการขึ้นบัญชี บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้เป็นไปตามประกาศการขึ้นบัญชีฯ
12. การเรียกตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง
1) ครั้งแรก ให้ใช้ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เป็นการเรียกตัวผู้มีสิทธิ์ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ที่ประกาศผลการสอบแข่งขัน ก่อนการเปิดภาคเรียนไม่น้อยกว่า 15 วัน
2) ครั้งต่อๆ ไป ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ทำหนังสือเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้โดยตรงเป็นรายบุคคล ก่อนวันรายงานตัวไม่น้อยกว่าสิบวัน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ขอบคุณ : ข้อมูลจากสำนักงาน ก.ค.ศ.
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
6/8/2559
Published : 8/8/2559