คอลัมน์ ปฏิรูปประเทศไทย: ถ้าผมเป็น 'รมต.ศึกษา'
รศ.วิทยากร เชียงกูล วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต วิทยากร ม.รังสิต @facebook.com
ผมจะไม่ใช้วิธีเพิ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องๆ แบบแยกส่วน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องนั้นได้บางส่วน หรือพัฒนาคนบางกลุ่มหรือบางจุด บางประเด็นเท่านั้น ผมจะต้องเปลี่ยนแปลงครู หลักสูตร วิธีการสอน การวัดผล ให้สามารถให้บริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ประชาชน ทั้งประเทศอย่างทั่วถึง เป็นธรรมได้อย่าง แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่
ผมจะมองก้าวข้ามกรอบคิดว่าการลงทุน การศึกษา คือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการใช้ระบบ แพ้คัดออก มุ่งคัดเลือกพัฒนาคนเก่ง ส่วนน้อยไปทำงานด้านเทคนิค เพื่อรับใช้ธุรกิจในระบบตลาด ผมต้องพัฒนาทั้งคนเก่ง และคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึงเพื่อการพัฒนามนุษย์และสังคมทุกด้าน
ผมต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่า การปฏิรูป การศึกษาให้ได้ผลจริงนั้น จะต้องเปลี่ยน แปลงทั้งแนวคิด เป้าหมาย ระบบบริหารจัดการทั้งโครงสร้างเรื่องสำคัญข้อแรกคือ พัฒนาครูอาจารย์ในสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพสูงขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน เพื่อจัดการศึกษาที่ทันโลกในศตวรรษที่ 21 คือ ครูอาจารย์ต้องรักการอ่าน การเรียนรู้เพิ่มเติม และรู้จักช่วยให้ผู้เรียนรักการอ่าน การเรียนรู้ ด้วยตนเองเป็น คิดวิเคราะห์เป็นอย่างสร้าง- สรรค์ เรียนรู้วิธีที่จะเรียนรู้ต่อ และแก้ไขปัญหาได้ เลิกวิธีการสอน การเรียนวิชาสามัญ แบบท่องจำเพื่อไปสอบ ที่คนเรียนจบมาแล้ว ยังคิดและทำอะไรไม่ค่อยเป็น
การจะปฏิรูปทั้งระบบได้ ควรจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ที่ คัดสรรคนจากนักบริหารมืออาชีพและนักการศึกษา นักวิชาการที่เป็นนักปฏิรูปเพียง ไม่กี่คนให้ทำงานเต็มเวลา วางแผนกำหนดนโยบาย โครงการและควบคุมกำกับดูแลแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ มีสิทธิอำนาจ เหนือกว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แบบที่ คณะกรรมการด้านนโยบายมีสิทธิอำนาจ สูงกว่าผู้บริหารจัดการ เหตุที่ต้องปฏิรูปอย่างแตกต่างจากกระทรวงอื่น เพราะบริหารจัดการของกระทรวงศึกษามีข้อจำกัดตลอดมา และการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญระดับชี้อนาคตของประเทศ ถ้าการปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถผลิต พลเมืองที่มีคุณภาพได้ ก็จะแข่งขันพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสู้คนอื่นเขาไม่ได้ แผนพัฒนาหรือแผนปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ที่ควรระดมสมองของนักการศึกษา นักบริหารมืออาชีพ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้บริหารธุรกิจเอกชนขนาด ใหญ่ 12 แห่ง แผนนี้ควรมียุทธศาสตร์ เป้าหมาย โครงการ มาตรการ วิธีการดำเนินงานแผนปฏิบัติ งานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ใช่แค่เขียนไว้เป็น ตัวหนังสือที่มีข้อความสวยงาม แต่ไม่มีผล ทางปฏิบัติจริง เป้าหมายที่ต้องหาตัวชี้วัดได้คือ ต้องพัฒนาคนไทยส่วนใหญ่ให้เป็นพลเมือง มีคุณภาพที่คิด วิเคราะห์ ทำงานเป็นมีจิตสำนึกเรื่องตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ควรออก พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทำกระทรวงศึกษาส่วนกลาง ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรถึงราว 10,000-15,000 คน ให้เล็กลง 2-3 เท่าตัว กระจายคนที่ทำงานวิชาการและธุรการส่วนกลางให้ไปทำงานในสถาบันการศึกษาโดยตรงเพิ่มขึ้น มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งงานได้ยืดหยุ่น คล่องตัวเพิ่มขึ้น เปลี่ยนแปลงบทบาทของกระทรวงศึกษาจากการเป็นผู้จัดการศึกษาเอง เป็นผู้กำกับนโยบาย ผู้สนับสนุน และผู้ประเมิน ผู้ประสานงาน ผู้ช่วยแก้ปัญหาพัฒนากระบวน การเรียนการสอน
ส่งเสริมพัฒนาตัวแทนภาคประชาชนและองค์กรธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับ ท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการและ ตรวจสอบการให้บริการการศึกษาของผู้บริหาร/ครู สถานศึกษาต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น กำหนดให้สถานศึกษา ต้องประเมินตัวเองและได้รับการประเมิน เช่น ต้องทำรายงานผลคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนเผยแพร่ต่อสาธารณะ จัดตั้งสำนักงานสถาบันเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นองค์กรมหาชนที่คัดเลือก ผู้บริหารมืออาชีพผู้เข้าใจปัญหาการศึกษา จากองค์กรธุรกิจเอกชน สังคมประชา และนักวิชาการที่มีความเป็นนักบริหารด้วยเข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา เพื่อปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กร และการปฏิรูปผู้บริหาร/ครูอาจารย์ให้เป็นนักวิชาชีพชั้นสูงที่มีแรงจูงใจสูง ปฏิรูปสถาบันฝึกอบรมครูแนวใหม่ คัดคนเก่ง คนมีอุดมการณ์ตั้งใจเป็นครูสูง ทำให้ครูเป็นนักวิชาชีพชั้นสูงที่ได้รับผลตอบแทนและแรงจูงใจสูงขึ้น เทียบได้กับนักวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ฝึกอบรมครูอาจารย์ให้มีความรู้/ทักษะแนวใหม่ที่สามารถสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบรู้จักคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีคุณภาพ ปฏิรูปให้สถาบันการศึกษาเป็นองค์กรที่เรียนรู้ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระจายบุคลากรงบประมาณและสิทธิอำนาจ ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ สู่คณะกรรมการศึกษาจังหวัด และสมัชชาการศึกษาจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา และสถาบันการศึกษา และการโอนการจัดการศึกษาไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารการศึกษาในทุกระดับทุกแห่งต้องจัดให้มีภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรสังคมประชา อื่นๆ เข้ามาร่วมบริหารจัดการด้วย โดยวางกฎเกณฑ์ในการดำเนินงานให้เข้ากับสภาพปัญหาความเป็นจริงของแต่ละท้องถิ่นได้อย่าง ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ โปร่งใส
กระจายอำนาจ ทรัพยาการศึกษาไปที่คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด และสมัชชาการศึกษาจังหวัดที่ประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายหลายฝ่าย ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น สภามหาวิทยาลัย หน่วยงานจัดการศึกษาระดับภาคสังคมประชา และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อทำงานปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดของตนให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สนองความต้องการของท้องถิ่นและประเทศได้มากขึ้น ตามความพร้อมศักยภาพของแต่ละจังหวัด แต่ต้องช่วยเหลือเร่งรัดให้ทุกจังหวัดสามารถทำได้ภายใน 5 ปี
ขอบคุณที่มาจาก กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 08 สิงหาคม 2559, 01:00 น.