ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม Edtech ระดมความคิด พัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีทางการศึกษาระดับเอเชีย ด้านตัวแทน กลุ่ม Topica ขึ้นอภิปราย ชี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆพัฒนาการศึกษา ระบุช่วงเวลานี้เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ สร้างธุรกิจให้มั่นคงยั่งยืน
ดร.ทรูแมน ฟาม (Truman Pham) ผู้บริหารและผู้แทนของกลุ่ม Topica Edtech ซึ่งดำเนินด้านการศึกษาออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เป็นหนึ่งในผู้อภิปราย หัวข้อ “การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีสู่การเป็นนักธุรกิจชั้นนำของเอเชีย” ในการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีทางการศึกษา “Edtech Asia Summit 2016” ณ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คนจาก 20 ประเทศทั่วเอเชียและทั่วโลก ซึ่งถือเป็นเวทีเชื่อมโยงผู้นำทางธุรกิจและเทคโนโลยีกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Start Up เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อธุรกิจและสังคมระดับเอเชีย
ดร.ทรูแมน กล่าวถึงสถานการณ์เทคโนโลยีทางการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอกาสของการทำธุรกิจในวงการนี้ ว่า ธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเริ่มเข้าสู่ตลาดเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นมีการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่เป็นการศึกษาแบบเปิดเกิดขึ้น จากนั้นก็ซบเซาลงพักหนึ่ง แต่ไม่นานมานี้กลับมีการลงทุนในธุรกิจด้านนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นกัน จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ในประเทศเวียดนามเพียงประเทศเดียว แสดงให้เห็นว่ามีธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา 100 ราย เหมือนตอนเกิดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เมื่อ 7-8 ปีก่อน แต่ปัญหาหนึ่งที่สตาร์ทอัพทั่วโลกมักจะเจอเหมือนกัน คือปัญหาการไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษา แม้แต่สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ก็เจอปัญหานี้เช่นกัน
“วิธีแก้ปัญหานี้ก็คือควรเน้นการเรียนในกลุ่มผู้ใหญ่เพราะเป็นกลุ่มที่มีกฎเกณฑ์น้อยที่สุดและคนกลุ่มนี้สามารถตัดสินใจเรื่องการเรียนได้เองแต่ถ้ามุ่งไปที่กลุ่มนักเรียนประถมหรือมัธยมก็จะเจอปัญหาเพราะคนที่จะตัดสินใจเรื่องการเรียนของเด็กกลุ่มนี้มักไม่ใช่พ่อแม่ แต่กลับเป็นครูใหญ่หรือบางทีก็เป็นผู้บริหารเขตการศึกษาเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นในการทำธุรกิจควรมุ่งเจาะตลาดกลุ่มผู้ใหญ่จะดีกว่า”
นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นว่าอุปสรรคอีกอย่างของการพัฒนาธุรกิจทางการศึกษา คือ ความเชื่อที่ว่าคนที่ประกอบอาชีพเป็นครูหรืออาจารย์ในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นชั้นอนุบาล – มหาวิทยาลัย มักมีรายได้น้อย จึงทำให้คนรุ่นใหม่สนใจที่จะประกอบอาชีพอื่นที่จะสร้างรายได้ให้มากกว่า ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนทั้งด้านจำนวนและคุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา โดยคิดว่าอาชีพครูหรืออาจารย์ในเวียดนามและไทยมีแนวโน้มจะมีรายได้เพิ่มขึ้นภายใน 5 ปีจากนี้ โดยยกตัวอย่างอาจารย์ 3 รายที่ทำคอร์สเรียนแบบออนไลน์เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะและความชำนาญทั่วไปให้แก่บริษัทในเครือของ Topica อย่าง Topica Edumall ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
“แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ดังเช่นอาจารย์ 3 ท่านนี้ พวกเขาสามารถสร้างรายได้จำนวนมาก เพราะตั้งใจทำงานออกมาให้ดี ทั้งเตรียมหลักสูตร บทพูด และถ่ายวิดีโอเพื่อปรับแต่งการพูดและการนำเสนอ รวมทั้งฟังผลตอบรับทั้งจากออนไลน์และออฟไลน์ เป้าหมายของพวกเขาคือต้องการให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจอย่างแท้จริงในหลักสูตรที่เขาสอน โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จสูงสุด”
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ทั่วโลกกำลังชื่นชมการพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่ๆ และสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดของผู้ประกอบการหน้าใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะสร้างธุรกิจของตนเองและยืนหยัดอย่างมั่นคงแข็งแกร่ง.
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ส.ค. 2559 เวลา 21:13 น.