"รมว.ศธ." วางแนวทางการออกเกณฑ์ประเมินคงวิทยฐานะครู จะดูผลงานที่คุณภาพตัวนักเรียน ถ้ามีพฤติกรรมส่อทำผิดคุณธรรม จริยธรรม งดจ่ายเงินวิทยฐานะทันที สั่งให้ ก.ค.ศ.ไปคิดการบ้านกำหนดกติกาที่ชัดเจน
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะ และไปคิดหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อคงไว้ซึ่งวิทยฐานะ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ในมาตรา 55 ที่กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ก.ค.ศ.ได้นำเสนอร่างดังกล่าวให้ตนพิจารณา ซึ่งตนขอให้ ก.ค.ศ.กลับไปจัดทำรายละเอียดใหม่อีกครั้ง โดยให้หลักการไปว่า การประเมินคงวิทยาฐานะจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะด้วย แนวทางพิจารณาอันดับแรกคือ จะดูเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของผู้ที่ดำรงตำแหน่งวิทยฐานะ จากนั้นจะพิจารณาจากผลงาน ซึ่ง ก.ค.ศ.ต้องกลับไปดูรายละเอียดว่าการประเมินจะพิจารณาจากผลงานอะไรที่สะท้อนถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ จะต้องนำหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือพีเอ (Performance Agreement : PA) ที่ต่อไปครูทุกคนจะต้องจัดทำข้อตกลงในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายปีมาพิจารณาประกอบด้วย
ด้าน นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า การประเมินการคงสภาพวิทยฐานะจะไม่ใช้การสอบประเมิน แต่จะประเมินจากคุณธรรม จริยธรรมของผู้มีวิทยฐานะในแต่ละระดับเป็นสำคัญ เช่น พิจารณาจากพฤติกรรมของครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อน ถ้าพบว่ามีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางผิดคุณธรรม จริยธรรม อันดับแรกก็อาจจะงดจ่ายเงินวิทยฐานะ และหากสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีมูล ก็ให้ลดวิทยฐานะลง เป็นต้น ซึ่ง ก.ค.ศ.จะต้องกลับไปคิดและกำหนดกติกามาให้ชัดเจน และต้องเป็นกติกาที่บุคคลภายนอกรับได้ เพื่อให้การเข้าสู่วิทยฐานะและการคงวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษาในอนาคตสะท้อนคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง
ด้านนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาฯ ก.ค.ศ. กล่าวว่า จากนี้ ก.ค.ศ.จะไปเร่งจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่ง รมว.ศธ.ย้ำว่า เกณฑ์การประเมินคงวิทยฐานะจะพิจารณาจากเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เป็นสำคัญ หากใครไม่ผ่านก็อาจไม่จำเป็นต้องไปดูเรื่องอื่น จากนั้นจึงจะมาพิจารณาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ซึ่งส่วนนี้จะสอดคล้องกับเกณฑ์พีเอที่อยู่ระหว่างนำร่างหลักเกณฑ์เสนอให้ ก.ค.ศ.พิจารณา โดยการประเมินคงวิทยฐานะจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว พิจารณาจากผลงานของผู้ถูกประเมินเป็นหลัก ไม่มีการตั้งคณะกรรมการเป็นผู้ประเมินเพิ่ม.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 3 สิงหาคม 2559