เดินหน้าปรับหลักสูตรประถมต้น จัดกลุ่มสาระวิชาใหม่
"ธีระเกียรติ" มอบนโยบาย สพฐ. เร่งปรับ โครงสร้างหลักสูตรระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น จัดแบ่งกลุ่มสาระวิชาใหม่ ให้เด็กเรียนรู้เฉพาะเรื่องจำเป็น เน้นเรียนน้อยแต่รู้ลึก
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการประชุมหารือโครงสร้างหลักสูตร ป.1-3 เพื่อเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ และตำราเรียน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดกลุ่ม สาระวิชาของระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นใหม่ และแบ่งกลุ่มสาระที่ต้องรู้และควรรู้ให้ชัดเจน
โดยจะมีการตั้งคณะทำงาน ที่ประกอบด้วย นักวิชาการ ครู และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาช่วยดูว่า สิ่งใดต้องรู้ และสิ่งใดที่ควรรู้สำหรับเด็กระดับนี้ ซึ่งการจัดกลุ่มสาระวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้สามารถลดเวลาเรียนในสิ่งที่ไม่จำเป็นได้ เพื่อเด็กจะได้เรียนในสิ่งที่ควรรู้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้สถาบันภาษาอังกฤษของ สพฐ. ยังได้ร่วมมือกับสถาบันภาษาอังกฤษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำร่างตำราเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียน ชั้น ป.1-3 ที่แบ่งสาระการเรียนการสอนชัดเจน และมีสื่อเทคโนโลยีการสอนวิชาภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 นี้ และจะ
มีการปรับปรุงให้สมบูรณ์ต่อไป "ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐานปี 2551 เพื่อเริ่มใช้ปี 2562 ผมได้มอบนโยบายไว้ว่า หลักสูตรแกนกลางใหม่ ต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิด ออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ต้องสอดคล้องกับวิธีการเรียนการสอน การประเมิน และ ที่สำคัญหลักสูตรต้องทำให้เด็กได้รู้ในสิ่งที่จำเป็น รู้น้อยเรื่อง แต่รู้ละเอียดขึ้น และจะต้องมีวิชาที่สอนลดลงด้วย"
ด้านนายสุเทพ ชิตยวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จ้างครูที่เกษียณอายุราชการแล้วมาเป็นครูอัตราจ้าง เพื่อแก้
ปัญหาการขาดแคลนครู และยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการดูแลครูที่เกษียณอายุราชการ นั้น ศธ.ได้กำหนดให้มีโครงการครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน โดยคัดเลือกครูที่เกษียณแล้ว ที่มีความรู้ ความสามารถและศักยภาพ รวมถึงมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มาทำหน้าที่เป็นครูอัตราจ้างสอนต่อในโรงเรียนสังกัดสพฐ.
โดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาให้สำรวจข้อมูล เพื่อดำเนินการ ขณะนี้เขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ได้รายงานข้อมูล เข้ามาแล้ว พบว่าล่าสุดโรงเรียนมีความต้องการจ้างครูเกษียณแล้ว 841 อัตรา แต่ยัง ไม่ถือเป็นข้อสรุป เนื่องจากสพฐ.ยังเปิดรับข้อมูลต่อไปจนถึงวันที่ 10 ส.ค.นี้
ขอบคุณที่มาจาก กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 สิงหาคม 2559