โรงเรียนยุคมิลเลนเนียล
ผู้เขียน ทวิตตี้
ที่มา คอลัมน์แปดหมื่นหกพันก้าว, มติชนรายวัน
เผยแพร่ 31 ก.ค. 59
เมื่อเร็วๆ นี้มีบทความต่างประเทศพาไปแนะนำโรงเรียนที่มีนวัตกรรมและวิธีการเรียนการสอนที่น่าสนใจ จึงขอนำมาถ่ายทอดให้เห็นภาพพอสังเขปว่า เทรนด์โรงเรียนที่ปรับตัวรับกับคน “ยุคสหัสวรรษ” หรือมิลเลนเนียลเป็นอย่างไร
เริ่มจาก AltSchool โรงเรียนอนุบาลในซิลลิคอน วัลเลย์ ซานฟรานซิสโก ความที่ตั้งอยู่ในแหล่งรวมชาวเทคโนโลยีสุดล้ำของโลก โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้เต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือที่พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้เด็กๆ เพื่อป้อนแนวคิด สร้างนวัตกรรมแบบฉบับ “เปลี่ยนแปลงโลก” ขณะเดียวกันไม่ใช่แต่จะเน้นเรื่องเทคโนโลยี ด้านหนึ่งยังมีคอร์สที่สอนให้เด็กรู้จักจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกเมื่ออยู่ในสังคมด้วยอย่างควบคู่กัน
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา กัมพูชามีโรงเรียน Sra Pou Vocational โรงเรียนออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกจากฟินแลนด์ และก่อสร้างโดยแรงงานของชุมชนในพื้นที่ โดยครูในโรงเรียนคือเอ็นจีโอที่อาสามาสอนเด็กๆ คอนเซ็ปต์การสร้างโรงเรียนนี้ต้องการให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของทั้งชุมชน ชาวบ้านได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างจากบริษัทสถาปนิกดังอีกทั้งยังแบ่งพื้นที่ในโรงเรียนให้เป็นตลาดชุมชนให้ชาวบ้านนำสินค้าที่ผลิตแบบโฮมเมดมาซื้อขายกันเองได้
P-TECH ในบรู๊คลิน นิวยอร์ก เป็นการไฮบริดผสมกันระหว่างโรงเรียนมัธยมปลายกับวิทยาลัย โดยการลงทุนของบริษัทไอบีเอ็ม เพื่อให้เด็กที่สนใจเรียนรู้ไม่ต้องเรียนในเกณฑ์เวลาปกติ แต่เรียนมัธยมปลายควบวิทยาลัยในเวลา 6 ปีได้เลย
มาสู่โรงเรียนที่ชื่อบ่งบอกคาแรกเตอร์สุดฤทธิ์ โรงเรียน Steve Jobs School ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ โดยเป็นโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะเฉพาะตัวให้เด็กๆ โดยพิจารณาจากแววทักษะต่างๆ เพราะเชื่อว่าเด็กแต่ละคนต่างมีทักษะเฉพาะ โดยที่นี่ไม่เรียกครูผู้สอนว่าครู แต่จะเรียกว่า “โค้ช” คล้ายการโค้ชชิ่งทักษะให้เด็กๆ ซึ่งเด็กที่นี่จะได้รับการฝึกฝนให้พบกับทักษะการเรียนรู้ที่ท้าทาย มีโค้ชเป็นผู้สอนและแนะนำ
ทั้งนี้ เด็กตั้งแต่เกรด 4-12 จะได้รับไอแพดที่ลงแอพพลิเคชั่นการเรียนรู้เฉพาะคน โดยโค้ชคอยแนะนำและเฝ้าดูเด็กๆดีไซน์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทักษะของตัวเองขึ้นมา
คล้ายๆ กันนี้มีโรงเรียนที่ชื่อ Brightworks ในซานฟรานซิสโก จุดเด่นคือ สอนเรื่องอันตราย หลายสิ่งที่บางอย่างพ่อแม่ต้องร้องห้ามเวลาเด็กอยู่ที่บ้าน อาทิ อนุญาตให้เล่นกันสกปรกอาจยังน้อยไป แต่ที่นี่สอนให้เด็กเล่นกับไฟ แบบที่รู้จักภัยของมันและรับมือให้เป็นแบบเบื้องต้น และการให้เด็กเล่นกับอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อให้เรียนรู้ว่ามีส่วนไหนที่อาจเป็นอันตราย การสอนแบบผ่อนคลายนี่เอง เพื่อสังเกตเด็กๆ ว่าใครมีทักษะทางไหน
ปิดท้ายที่ Blue School ในนิวยอร์ก กับคอนเซ็ปต์ ความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งยิ่งใหญ่ รูปแบบโรงเรียนเน้นการเรียนการสอนแบบโลกจริง เช่น สอนการรีไซเคิลของเก่าให้กลับมาใช้งานได้ ซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน จุดประสงค์คือพยายามให้เด็กเห็นว่าโลกจริงปัญหาเป็นอย่างไร เป็นการเรียนแบบเน้นพลวัตไปกับสังคม
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 31 ก.ค. 59 เวลา: 14:33 น.