มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในการประชุม มศว วิชาการ เรื่อง "การผลิตครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย" เมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 ณ หอดนตรีและศิลปะการแสดง อาคารนวัตกรรมฯ ชั้น 4 โดยมี มล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานคนที่ 1 คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา และประธานคณะอนุกรรมาธิการการอุดมศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตลอดจนนักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วมประชุม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุม มศว วิชาการในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีโอกาสมาบอกกล่าวและถ่ายทอดถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วยปัญหาหลัก 6 ด้าน ดังนี้
1 - การผลิตและพัฒนาครู
ปัจจุบันครูมีภาระงานมาก ครูสอนไม่ครบชั้น รวมทั้งสัดส่วนครูในโรงเรียนไม่เหมาะสม โดยเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ที่มีครูขาดและครูเกิน ยกตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน มีจำนวนห้องเรียน 120,632 ห้อง แต่มีครู 84,941 คน ทำให้ขาดครูประจำชั้นในโรงเรียนขนาดเล็ก 35,691 คน ส่วนโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป มีจำนวนห้องเรียน 224,067 ห้อง มีครู 314,858 คน ทำให้ครูเกินห้องเรียน 90,791 คน ซึ่งจำนวนของครูที่เกินส่วนมากจะเป็นครูในโรงเรียนใหญ่ เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดจะมีอัตราการขาดเกินของครู รวมทั้งพนักงานราชการ และครูอัตราจ้าง ที่แตกต่างกัน
สำหรับปัญหาครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาที่จบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เนื่องจากครูในระดับมัธยมศึกษาต้องมีความรู้เฉพาะทางในวิชานั้น ๆ เพื่อสอนให้เด็กมีความรู้และนำไปสอบเข้าศึกษาต่อได้
นอกจากนี้ พบว่าเด็กไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนมากกว่าเด็กในประเทศอื่น แต่มีผลคะแนนเฉลี่ยการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งการสอบ PISA จะวัดความสามารถ 3 ด้าน คือ การประเมินความรู้เรื่องการอ่าน, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง PISA รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้และมีความแตกฉานในภาษาไทย เพราะการเข้าใจภาษาไทยอย่างถ่องแท้จะช่วยให้เด็กเชื่อมโยงความรู้และเนื้อหาที่เรียนในวิชาต่าง ๆ ได้
ในส่วนของปัญหาเรื่องมาตรฐานภาษาอังกฤษ พบว่าผลการจัดอันดับความรู้ภาษาอังกฤษของไทยอยู่อันดับ 5 จาก 10 ประเทศอาเซียน และหากจัดอันดับทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษ 5 กลุ่ม ไทยอยู่กลุ่มที่ 5 (ทักษะความสามารถระดับต่ำมาก) อีกทั้งประชากรของไทยมีอัตราเข้าเรียนระดับประถมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 96 ซึ่งเด็กอีกร้อยละ 4 ที่ไม่เข้าเรียนต้องมีระบบติดตามและหาให้พบว่าเด็กออกนอกระบบการศึกษาได้อย่างไร
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำมาวางแผนและกำหนด 11 ยุทธศาสตร์ในการผลิตและพัฒนาครู โดยวางเป้าหมายการแก้ปัญหาภายใน 5 ปี ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในภูมิภาค ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ทำให้มี กศจ. ขึ้นมา โดย กศจ. จะทำหน้าที่พิจารณาการบรรจุข้าราชการครู รวมทั้งการโอนย้ายทำให้ครูสามารถย้ายข้ามเขตพื้นที่การศึกษาได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาการถูกเรียกเงินในการขอโยกย้าย
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตครู ต้องผลิตครูให้มีสมรรถนะของครูในศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดวิเคราะห์, ความคิดสร้างสรรค์, เรียนรู้ร่วมกับเด็ก, มีเครื่องมือการสอนที่ทันสมัย เป็นต้น อีกทั้งมีแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู ด้วยการจัดทำอัตรากำลังครู 10 ปี ในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ, จัดทำอัตราความต้องการครูและอัตรากำลังที่สามารถผลิตครูได้ (Demand / Supply), เชื่อมโยงสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตครู (80 แห่ง) ของคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), ปรับปรุงเกณฑ์และมาตรฐานหลักสูตรการผลิตครู, จัดทำหลักสูตรการผลิตครูที่ให้ความสำคัญทั้งวิชาที่สอน (Subject) และเทคนิคการสอน (Pedagogy)
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสอบบรรจุครูผู้ช่วย แนวทางปัจจุบัน คือ ให้ กศจ. ดำเนินการจัดสอบและสามารถโอนย้ายข้าราชการครูได้ ส่วนแนวทางใหม่จะใช้ข้อสอบกลางและทำการสอบครั้งเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ และให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้คัดเลือกครูโดยสามารถประกาศสอบสัมภาษณ์ครูที่สอบผ่านข้อเขียน เพื่อบรรจุเข้าสอนในโรงเรียนของตนเองได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางที่เหมาะสม
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การวางแผนครูล่วงหน้า 10 ปี เนื่องจากจะมีจำนวนครูเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2556-2570 จำนวน 288,233 คน โดยจะเกษียณอายุราชการสูงสุดในปี 2562 จำนวน 28,246 คน สพฐ. จึงต้องดำเนินการสำรวจความต้องการครู โดยจำแนกตามสาขาวิชา และข้อมูลทั้งหมดจะส่งกลับไปให้สถาบันที่ผลิตครู เพื่อวางแผนผลิตครูล่วงหน้าด้วย
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 แก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น โดยได้ดำเนินโครงการคืนครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน และการใช้เครือข่ายอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อีกทั้งมีแนวทางในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 20 คน และทบทวนเกี่ยวกับโรงเรียนโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา
- ยุทธศาสตร์ที่ 6 การแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าครูไม่เก่ง กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรับสมัครแล้วมีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 39,400 คน โดยคาดว่าจะทำการคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการครูได้ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2559 อีกทั้งมีแนวทางทำการทดสอบความรู้ครู ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการตรวจเลือดครู เพื่อให้วิตามินได้ถูกต้อง กล่าวคือ การทดสอบว่าครูขาดทักษะในด้านใดบ้าง เพื่อที่จะได้ทำการจัดอบรมให้ความรู้ โดยคาดว่าจะจัดอบรมครูในภูมิภาคตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อจะช่วยให้ครูไม่ต้องเดินทางมาอบรมที่ส่วนกลาง
- ยุทธศาสตร์ที่ 7 วิทยฐานะ มีแนวทางในการพิจาณาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ซึ่งต้องสอดคล้องกับการมีวิทยฐานะของครูในโรงเรียน เช่น โรงเรียนที่ครูมีวิทยฐานะสูง ๆ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจะต้องดีกว่าโรงเรียนที่ครูมีวิทยฐานะต่ำกว่า
- ยุทธศาสตร์ที่ 8 การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของผู้อำนวยการสถานศึกษา จะต้องมีความเหมาะสมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ ไม่ใช้การสอบเป็นหลัก เนื่องจากผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อที่ใกล้ที่สุดในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา
- ยุทธศาสตร์ที่ 9 การแก้ปัญหาระบบการนิเทศ เนื่องจากพบปัญหาศึกษานิเทศก์ยังไม่ได้รับการยอมรับจากครูและไม่มีหน่วยงานในส่วนกลางที่รับผิดชอบสายงานนิเทศ จึงมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ กำหนดคุณสมบัติการเป็นศึกษานิเทศก์ โดยจะต้องมีประสบการณ์ด้านการสอนอย่างน้อย 10 ปี, สร้างความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น กำหนดเงื่อนไขให้สามารถเป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหรือเป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิทยฐานะเชี่ยวชาญ, กำหนดให้ศึกษานิเทศก์เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนงานและโครงการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดเทคนิคการสอน ตลอดจนพัฒนาอัตรากำลังศึกษานิเทศก์ให้มีประสิทธิภาพ
- ยุทธศาสตร์ที่ 10 การซ่อมแซมบ้านพักครู ปัจจุบันมีบ้านพักครูทั้งหมด 44,359 หลัง เป็นบ้านพักสภาพดีไม่ต้องซ่อมแซม 27,422 หลัง, บ้านพักที่ต้องซ่อมแซม 12,928 หลัง และได้ทำการซ่อมแซมบ้านพักเสร็จแล้ว 2,345 หลัง คิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนบ้านที่ต้องซ่อม โดยจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมบ้านพักที่ชำรุดทรุดโทรมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
- ยุทธศาสตร์ที่ 11 การแก้ปัญหาหนี้สินครู ด้วยการดำเนินการกองทุนเงินหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ไม่มีการล้างหนี้และไม่มีการพักชำระหนี้ให้
2 - หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เนื้อหาไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลง การเรียนภาษาอังกฤษขาดมาตรฐาน เป็นต้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนด 7 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดทำข้อสอบวัดผลประเมินผลระดับชาติ เช่น O-NET ให้มีความสมเหตุสมผลและน่าเชื่อถือ
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การวิเคราะห์ผลการสอบของสถานศึกษาในแต่ละจังหวัด แบ่งตามภูมิภาคด้วยการนำคะแนน O-NET ของแต่ละวิชาของทุกจังหวัดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยแจ้งคะแนนเฉลี่ยการวัดผลระดับชาติของสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ กศจ. ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบและพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเข้าไปแก้ปัญหาได้ตรงจุดและถูกพื้นที่
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 ภายใน 2 ปี เด็กเรียนท่องจำในสิ่งที่ควรจำ และฝึกทักษะการวิเคราะห์ในสิ่งที่ควรคิดวิเคราะห์
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มจำนวนสถานศึกษาที่ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) โดยการนำ DLTV มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กที่จัดรูปแบบการเรียนการสอนผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจำนวน 15,369 แห่ง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างมีคุณภาพ
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 นำรูปแบบการเรียนการสอน STEM Education มาใช้ โดยในปี 2559 มีโรงเรียนจำนวน 2,495 แห่ง ที่นำ STEM Education มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแล้ว และจะขยายให้มากขึ้นในปีการศึกษาต่อไป
- ยุทธศาสตร์ที่ 6 การยกระดับภาษาอังกฤษ ภายใน 3 ปี จะผลักดันให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ โดยการสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษา ปรับหลักสูตร พัฒนาครู และเพิ่มสื่อการเรียนการสอน
- ยุทธศาสตร์ที่ 7 โรงเรียนคุณธรรม ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันมีโรงเรียนที่รับนโยบายโรงเรียนคุณธรรมไปปรับใช้ในสถานศึกษาแล้วจำนวน 22,760 แห่ง นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะทบทวนระบบการเรียนการสอนวิชาลูกเสือเพื่อสร้างให้เด็กมีวินัย จริยธรรม และคุณธรรม
3 - ICT เพื่อการศึกษา
ปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษาขาดความเสถียร ไม่ทันสมัย และไม่ทั่วถึง จึงต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 โดยองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการต้องบูรณาการระบบสารสนเทศให้เชื่อมฐานข้อมูลและแบ่งปันกันได้ รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลกลางและระบบจัดการองค์ความรู้ด้วย
4 - การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา
ในด้านการประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา มีหลายปัญหาที่พบ คือ การประเมินครู การประเมินสถานศึกษา การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ดังนั้นจะเน้นการแก้ปัญหาไปที่การจัดระบบการทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพ และการพัฒนามาตรฐานการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 กล่าวคือ จะปรับระบบการสอบ การวัดมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและสะท้อนถึงคุณภาพ พร้อมทั้งจัดทำ Test Blueprint เพื่อแก้ปัญหาการออกข้อสอบไม่ตรงกับที่โรงเรียนสอน และจัดทำ Item Card เพื่อระบุได้ว่าคำตอบที่ถูกของข้อนี้คือตัวเลือกใด และตัวเลือกอื่นผิดเพราะอะไร ตลอดจนให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือกผู้ที่ทำหน้าที่ออกข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบ
5 - การผลิต พัฒนากำลังคนและงานวิจัย
พบปัญหา อาทิ ขาดกำลังแรงงานสายวิชาชีพการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประเทศ งานวิจัยไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เป็นต้น โดยจะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี ซึ่งจะมีโครงการสนับสนุนการแก้ปัญหา เช่น ทวิภาคีซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันอาชีวศึกษาส่งนักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์ระยะสั้นในสถานประกอบการกว่า 13,000 แห่ง, ทวิศึกษา คือ การเรียนสายสามัญควบคู่กับสายอาชีพ
รวมทั้งได้มีความร่วมมือกับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ โดยการจัดทำฐานข้อมูล Demand and Supply Side ให้มีความทันสมัยภายใน 1 ปี และ 2) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ
6 - การบริหารจัดการ
พบปัญหาหลายด้าน อาทิ ขาดการบูรณาการ การกำกับดูแลขาดประสิทธิภาพ ระบบงบประมาณที่ไม่สอดคล้องต่อการดำเนินงาน เป็นต้น จึงได้กำหนดวิธีการแก้ปัญหาการบริหารจัดการ ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นการประสานร่วมกันกับทุกฝ่าย เช่น ปัญหาเด็กไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ทุกหน่วยงานต้องบริการจัดการข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนของเด็กที่แท้จริง และนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหา เป็นต้น
หรือตัวอย่างการจัดทำระบบเพื่อบูรณาการปัญหาเด็กออกกลางคันและเด็กตกหล่น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน อีกทั้งการดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตลอดจนดูแลเด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งพบว่าครูที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กพิเศษยังขาดทักษะในการดูแลเด็กอยู่มาก โดยจะต้องทำให้เด็กเหล่านี้อยู่ในสังคมเหมือนคนปกติทั่วไปได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การศึกษาไทยยังประสบปัญหาเรื่องความแตกต่างของยุคสมัย กล่าวคือ ห้องเรียนบางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และการผลิตครูมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 และมีลักษณะเป็น Immigrant Digital แต่นักเรียนต้องมีทักษะการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 และเป็น Native Digital
จากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น การนำเสนอนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจและเห็นแนวทางที่จะสามารถนำนโยบายดังกล่าวไปคิดและดำเนินการต่อได้ เนื่องจากในปัจจุบันสังคมมองว่าการศึกษาไทยอยู่ในช่วงวิกฤต คนในสังคมและองค์กรการศึกษาต้องเข้าใจในวิกฤตร่วมกัน จึงจะสามารถร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตด้านการศึกษาดังกล่าวให้เป็นแนวทางเดียวกันได้
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป / รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่าย
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย คลิกที่นี่
ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 29 กรกฎาคม 2559