"ดาว์พงษ์" เผยวางโรดแมปแก้ปัญหาการศึกษาในยุทธศาสตร์ 6 ด้าน สลายปัญหาครูให้ได้ภายใน 5 ปี เด็กต้องคิด วิเคราะห์ และพูดภาษาอังกฤษได้ภายใน 3 ปี วัดผลจังหวัดไหนโอเน็ตคะแนนดีใน 2 ปี ย้ำจัดการปัญหาทุจริตแน่ ไม่มีเกี้ยเซียะ
ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร จัดการประชุม มศว วิชาการ ภายใต้หัวข้อ "การผลิตครูเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย" โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวตนมองว่าการเป็นครูจะต้องสามารถพูดให้คนเข้าใจง่าย ครูต้องมีเทคนิคที่จะหลอกเด็กให้เชื่อฟัง เข้าใจในสิ่งที่สอน และที่สำคัญคือ ต้องทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับสิ่งเหล่านั้นด้วย แน่นอนความทุกสถาบันผลิตครูที่มีความรู้เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ทักษะการสอน ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องของการศึกษาของไทยมีปัญหาติดขัดอยู่หลายด้าน โดยตนมีหน้าที่ทำให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการศึกษาเรากำลังมีปัญหา รับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่ตรงกัน เพื่อหาทางแก้ไข เปลี่ยนแปลง ซึ่งหากพูดถึงสถานการณ์ครูในปัจจุบัน จากที่ผลการสำรวจพบว่า สัดส่วนจำนวนครูต่อห้องเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในโรงเรียนขนาดเล็กนั้น มีครูอยู่ทั้งหมด 84,941 คนต่อห้องเรียน 120,632 ห้อง ซึ่งส่งผลให้ห้องเรียนอีก 35,691 ไม่มีครูประจำชั้น และสำหรับโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่นั้นมีครูทั้งหมด 314,858 คนต่อห้องเรียน 224,067 ห้อง ซึ่งมีครูเกินอยู่ 90,790 คน และยังมีปัญหาเรื่องครูสอนไม่ตรงสาขาด้วย
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของที่องค์การต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่นำเสนอให้เห็นถึงปัญหาของการศึกษาไทย เช่น ข้อมูลจากยูเนสโก ที่จัดอันดับชั่วโมงเรียนต่อปีของนักเรียนในระดับต่างๆ พบว่า นักเรียนชั้น ป.4 และ 5 ของไทย ใช้ชั่วโมงเรียนเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 1,200 ชั่วโมงต่อปี และยังมีการจัดอันดับความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่ไทยอยู่อันดับที่ 5 จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาตนได้วางแนวทางว่า
1.ปัญหาเรื่องครูจะต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 5 ปี โดยในระยะสั้นได้มีการจัดการในส่วนของการบริหารบุคคลระดับพื้นที่แล้ว และกำลังจะขับเคลื่อนในส่วนอื่นๆ ตามมา เช่น การประเมินวิทยฐานะ, การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา, ซ่อมบ้านพักครู, แก้ปัญหาหนี้ครู เป็นต้น ส่วนของระยะยาวจะต้องมีการสำรวจอัตราความต้องการครู และจำนวนครูเกษียณอายุของทุกสังกัดใน ศธ. โดยแยกเป็นแต่ละวิชา ว่าวิชาไหนต้องการมากน้อยเพื่อนำไปสู่การผลิต และต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรผลิตครู และตนได้วางแนวทางว่า ในอนาคตการสอบบรรจุครูอาจจะดำเนินการโดยส่วนกลาง รวมไปถึงการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและทบทวนโรงเรียนขยายโอกาสที่มีจำนวนถึง 7,157 โรง แต่กลับมีโรงเรียนขยายโอกาสที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนมัธยมไม่เกิน 6 กิโลเมตรถึง 85 โรง
2.การแก้ปัญหาเรื่องหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ที่จะต้องทำให้เด็กเรียนท่องจำในสิ่งที่ควรจำและนำสิ่งที่จำไปฝึกคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำไปใช้ได้ภายใน 2 ปี โดยตนได้นำผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต แต่ละวิชาของทุกจังหวัด นำมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ให้เห็นภาพว่าจังหวัดไหนต้องดูแลมากน้อยอย่างไร อีกทั้งจะนำสะเต็มศึกษา การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เข้ามาเป็นส่วนในการช่วยยกระดับด้วย และต้องยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนสามารถใช้เพื่อสื่อสารได้ภายใน 3 ปี โดยการปรับหลักสูตร พัฒนาครู เพิ่มสื่อการเรียนการสอน อีกทั้งจะต้องมีการรื้อระบบการเรียนการสอนวิชาลูกเสือใหม่เพื่อให้เด็กกลับมาสนใจ และวิชาลูกเสือก็ถือเป็นวิชาที่สร้างให้เด็กมีวินัย จริยธรรม คุณธรรม
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวอีกว่า
3.การแก้ปัญหาไอซีทีจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 2560 องค์กรหลักของ ศธ.ต้องบูรณาการระบบสารสนเทศให้เชื่อมฐานข้อมูลและแชร์กันได้ รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลกลางร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ด้วย
4.การแก้ปัญหาการทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 คือต้องปรับระบบการสอบวัดมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและสะท้อนถึงคุณภาพ
5.การแก้ปัญหาเรื่องผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศภายใน 10 ปี ซึ่งจะมีโครงการสนับสนุนอย่าง ทวิภาคี ทวิศึกษาและประชารัฐ และ
6.การแก้ปัญหาการบริหารจัดการทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก ศธ.ที่จะต้องประสานกัน เช่น เรื่องปัญหาเด็กไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ที่ทุกหน่วยงานต้องบริการจัดการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้ทราบถึงจำนวนของเด็กที่แท้จริง และนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เป็นต้น ซึ่งการจัดทำระบบเพื่อบูรณาปัญหาเด็กออกกลางคัน ตกหล่น จะต้องเสร็จภายใน 6 เดือน
"ผมเป็นคนที่เวลาจะทำอะไรต้องทะลุปัญหานั้นให้ได้ เข้าถึงให้ละเอียดลึกซึ้ง เพื่อที่จะก้าวไปสู่การแก้ปัญหานั้นๆ อย่างตรงจุด เช่น การใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถานศึกษา ที่เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 39 นั้น ก็ต้องทำให้สังคมมองเห็นถึงปัญหาจริงๆ เพราะการทำอะไรกับมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำได้ทันที เป็นต้น และเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตของ ศธ. ผมทำแน่นอน ไม่มีเกี้ยเซียะ ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก ใช้กฎหมายเป็นหลัก เพราะผมไม่มีนอกมีใน ไม่มีฐานเสียงหรือผลประโยชน์ ก็จะต้องเดินหน้าเต็มที่" รมว.ศธ.กล่าว.
ที่มาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไทยโพสต์ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559