ถ้าพูดถึงสะเต็มศึกษา (STEM) หลายคนคงทราบมาก่อน เพราะประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายนำสะเต็มศึกษามาใช้ และส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการแก้ปัญหาจริงในชีวิต
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ จึงดำเนินโครงการสะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพเชิงพาณิชย์สำหรับเยาวชนไทย (STEM Education for The Development of Youth Entrepreneurship หรือ E2STEM)
โดยแผนการดำเนินงานปี 2559 มีการจัดค่ายเพื่อให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทักษะการประกอบการ (Entrepreneurship) และการบูรณาการกับสะเต็มศึกษา มีการจัดงานออกร้านเพื่อให้นักเรียนพบกับผู้บริโภค การประกวดการบูรณาการสะเต็มศึกษา และแผนธุรกิจ ทั้งยังพร้อมเดินหน้าจัดงานสะเต็มศึกษาระดับชาติ Thailand STEM Festival 2016
"ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร" ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า สสวท.ต้องการเอากระบวนการของความเป็นผู้ประกอบธุรกิจมาผนวกกับแนวทางสะเต็มศึกษา เพื่อสร้างผู้เรียนให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ ลงมือทำอย่างมีเหตุมีผล และยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และชุมชน เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนที่นักเรียนอยู่อาศัย และต้องสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ในพื้นที่ใด หรือเรียกได้ว่าเป็นสะเต็มศึกษาเพื่อชีวิตสำหรับทุกคน (STEM for All)
ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรให้นักเรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่มีความหมายกับชีวิต และเชื่อมโยงกับอาชีพมากขึ้น เช่น โครงการปลูกข้าวเพื่อนำมาเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน โดยนักเรียนสามารถใช้ส่วนที่เหลือไปขายในตลาด หรือสร้างผลงานต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดเชิงธุรกิจได้
ขณะนี้โรงเรียนต่าง ๆ เริ่มเตรียมคน และนำกิจกรรมบูรณาการสะเต็มศึกษาไปใช้ในหลากหลายวิธี ซึ่งที่ผ่านมา สสวท.ร่วมมือกับภาคเอกชน และโรงเรียนที่มีประสบการณ์เหล่านี้อยู่เป็นทุน รวมถึงมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ให้กับนักเรียนมองเห็นอนาคตชัดเจนขึ้น
"สิ่งที่เรากำลังส่งเสริมแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง การช่วยประเทศไทยให้หนีจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถมีทักษะที่ช่วยพัฒนาประเทศ โดยนำความรู้ที่มีอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจากห้องเรียน หรืออินเทอร์เน็ตมาใช้ให้ได้และถูกต้อง"
"สอง การพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ ซึ่งไม่ได้วัดจากการที่นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้กี่คน แต่ดูจากว่ามีนักเรียนจบไปแล้วสามารถเรียนต่อในสาขาที่สร้างอาชีพได้หรือไม่ นอกจากนี้ ทักษะของครูยังมีผลต่อการประสบความสำเร็จของโครงการ จึงต้องมีการจัดอบรมครูในอนาคตด้วย"
"ทั้งนี้ สสวท.มีแผนงานที่จะเป็นเจ้าภาพจัดสอบครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 โดยเป็นการสอบเพื่อให้รู้ว่าครูแต่ละคนมีความรู้อยู่ในระดับใด เพราะเราไม่ควรทำการอบรมครูแบบเหมาโล ดังนั้นเมื่อสอบแล้วจะบอกได้ว่า ต้องเพิ่มเติมอะไรให้กับครู และออกแบบตามกลุ่มที่เขาขาด ไม่ได้ประเมินว่า เขาแย่ แต่เป็นการประเมินเพื่อการพัฒนาครู"
"อ.ศุภราภรณ์ สุบงกช" หัวหน้าโครงการสะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพเชิงพาณิชย์สำหรับเยาวชนไทย สสวท. อธิบายว่า Entrepreneurship คือการมีสัญชาตญาณของการเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ที่ลงมือทำ เป็นคนที่กล้าคิด และเป็นคนกล้าแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางที่เข้ากับสะเต็มศึกษา เพราะมีกระบวนการคิดที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ใช่การมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ แต่เราเน้นให้นักเรียนมีทักษะในแบบผู้ประกอบการ เพราะจะประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่ออนาคตตัวเองได้
"สำหรับการจัดค่ายเพื่อให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทักษะการประกอบการ และการบูรณาการกับสะเต็มศึกษา ภายในค่ายจะมีการสอนให้เอาความรู้ที่มีอยู่ในห้องเรียนมาแก้ปัญหาในชีวิต สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเชิญผู้ประกอบการยุคใหม่มาให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อชี้ให้เด็กเห็นว่า เอาสะเต็มศึกษามาใช้อย่างไร"
ส่วนงาน Thailand STEM Festival 2016 ในหัวข้อ "STEM สุดฮอต Robot สุดฮิต" โดยเปิดโอกาสให้ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พร้อมทั้งนำองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดทั้งในชั้นเรียน และนอกห้องเรียน โดยจะจัด ณ ศูนย์สะเต็มศึกษา 6 แห่ง คือ 1) โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม วันที่ 23-25 กรกฎาคม 2559 2) โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ วันที่ 27-29 กรกฎาคม 2559 3) โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี วันที่ 8-10 สิงหาคม 2559 4) โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 22-24 สิงหาคม 2559 5) โรงเรียนศรีบุณยานนท์ จ.นนทบุรี วันที่ 24-26 สิงหาคม 2559 และ 6) โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก วันที่ 31 สิงหาคม-2 กันยายน 2559
จึงนับว่าโครงการ E2STEM สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมธุรกิจใหม่ หรือนโยบาย "สตาร์ตอัพ" เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลต้องการเสริมสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพในด้านต่าง ๆ ให้คนไทยสามารถสร้างธุรกิจเอง โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเสริม ที่สำคัญจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และต้องเห็นช่องทาง กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงแก่นของการทำธุรกิจอย่างแท้จริง
โดยเริ่มต้นตั้งแต่การส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั่นเอง
ที่มาเนื้อหาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 26 ก.ค. 2559 เวลา 20:00:26 น.