“ดาว์พงษ์” นัดผอ.ออมสิน และสกสค. ถกข้อขัดแย้ง รีไฟแนนซ์หนี้ครู 28 ก.ค. ด้าน”กำจร” จวกออมสินคิดตื้น ๆให้คนหนี้เน่ากู้ก่อน ทำคนดีเสียสิทธิ์ได้ไม่คุ้มเสีย ห่วงหนี้เสียพุ่งกว่าเดิม
วันนี้ (26 ก.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยถึงสาเหตุที่ยังไม่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการลดภาระหนี้ครูระหว่างธนาคารออมสิน กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)ได้ ว่า เนื่องจากธนาคารออมสินให้เหตุผลว่า สกสค.ได้ทำข้อเสนอให้ลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงินดีเข้าโครงการใช้เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) ซึ่งทายาทจะได้รับเมื่อสมาชิกเสียชีวิตมาค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม หรือ รีไฟแนนซ์หนี้ เข้าโครงการได้ก่อนลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สินค้างชำระกับธนาคาร เรื่องนี้คงต้องสอบถามทั้ง 2 ฝ่ายอีกครั้ง โดยตนได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้ง นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. และนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.มาหารือในวันที่ 28 ก.ค.นี้ และจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ทั้งลูกหนี้ชั้นดีและลูกหนี้ค้างชำระที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ทั้งนี้ในการพิจารณาข้อตกลงจะดูตามกรอบแนวทางที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติอนุมัติไว้ ถ้ามีอะไรที่ออกนอกกรอบก็ต้องเสนอแก้มติ ครม.ต่อไป
ด้าน รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า นโยบายของ รมว.ศธ. มีหลักการว่า ต้องช่วยคนดี มีวินัยทางการเงินดี ทำตามกติกาก่อน คนไม่ทำตามกติกาช่วยทีหลัง แต่ถ้าช่วยพร้อมกันได้ก็ให้ช่วยพร้อมกันเลย ซึ่งการหารือครั้งนี้จะมีการตกลงกติกาให้ชัดเจน ว่า ลูกหนี้ชั้นดี หมายถึงอะไร ส่วนคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็ต้องปฏิบัติตามกติกาให้ได้ในระดับหนึ่งจึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ส่วนตัวตนมองว่า หากช่วยผู้กู้ที่มีปัญหาค้างชำระเงินก่อน ก็อาจจะทำให้ลูกหนี้ชั้นดีที่อยากเข้าร่วมโครงการต้องทำให้ผิดกติกา เพื่อสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ดังนั้น ลูกหนี้ชั้นดีควรต้องได้รับความช่วยแหลือไม่ด้อยไปกว่าลูกหนี้ค้างชำระ
“สัญญาณแรกในการดำเนินโครงการนี้ คือ รัฐบาลสั่งมาว่าให้ช่วยครูที่เป็นหนี้ ไม่บอกว่าให้ช่วยเฉพาะคนที่ค้างชำระกับธนาคารออมสินเท่านั้น เมื่อรัฐมีนโยบายมาแล้วว่า ให้ออมสินช่วยโดยใช้เงินอนาคตของผู้กู้มาเป็นหลักประกัน ดังนั้นถ้าจะช่วยก็ต้องช่วยทั้งหมด และคนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือก่อนก็ควรเป็นผู้ที่ชำระหนี้ตามปกติ จะไปบอกว่าเขาไม่เดือดร้อนไม่ได้ ซึ่งผมเองเห็นว่า ถ้าให้คนที่ค้างชำระก่อนต่อไปถ้าคนไหนอยากให้ช่วย ก็ไม่ใช้หนี้ ค้างชำระ เพื่อให้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการได้ ทำแบบนี้ธนาคารออมสิน คิดตื้นเกินไปหรือไม่ คิดจะเอาหนี้ เสียออก แต่ทางกลับกัน วิธีนี้จะก่อให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น ถ้าให้คนหนี้เสียได้ประโยชน์มากกว่าคนชำระหนี้ดี” รศ.นพ.กำจรกล่าว
ที่มาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เดลินิวส์ วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 15.22 น.