"ชวน" ชี้การศึกษาไทยต้องปรับตัว แต่ความดี ซื่อสัตย์ ต้องสอน เสนอใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ด้าน "อภิสิทธิ์" ห่วงโครงสร้าง ศธ. ย้อนหลัง 20 ปี กรณ์ เผย ระดมความเห็นอีกหลายเวที
วันที่ 26 ก.ค. จากการเสวนาเรื่องออกแบบอนาคตการศึกษาไทย FIT Education : Truth and Dare โดยสถาบันออกแบบแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งมีการนำเสนอแนวคิดจากนักวิชาการและการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย เพื่อนำไปสู่การคิดนโยบาย มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต รมว.ศธ. ดร.เจริญ คันธวงศ์ นายอาคม เอ่งฉ้วน อดีต รมช.ศธ. พร้อมด้วยแกนนำพรรคและสมาชิกพรรค เข้าร่วมสัมมนาและระดมความเห็น
โดยนายชวน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่การศึกษาและวิชาการจะต้องมีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยแต่แก่นแท้ของสังคมไทยจะต้องคงอยู่ เช่น ความดี ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา เป็นต้น และการศึกษาเป็นเรื่องที่เห็นผลได้ในระยะยาว เช่น ในสมัยที่ตนเป็น รมว.ศึกษาธิการ ปี 2528 ได้ริเริ่มหลายโครงการและเห็นผลในปัจจุบัน เช่น โรงเรียนขยายโอกาสระดับ ม.ต้น, การจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลชนบท และให้เด็กไทยได้ดื่มนมตั้งแต่อนุบาล-ป.4 ต่อมา นายอภิสิทธิ์ ขยายเป็น ป.6 ซึ่งเราได้เห็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในขณะนี้หลายคนก็เพราะได้ดื่มนมตั้งแต่เด็ก ซึ่งตนภาคภูมิใจมาก อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า การศึกษาไทยยังมีข้อดีอยู่อีกมากเรื่องที่ดีเข้มแข็งต้องทำต่อ และแก้ไขจุดอ่อนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เช่น การเปิดสอนรอบเช้า รอบบ่าย เป็นต้น รวมทั้งไม่ควรเปลี่ยนแปลงตัว รมว.ศึกษาธิการบ่อย
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงการปฏิรูปการศึกษาในขณะนี้ ซึ่งเริ่มเห็นการวนอยู่ในอ่างโดยเฉพาะเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ แต่ดูโครงสร้างแล้วเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน ที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาปี 2542 ซึ่งตนไม่มั่นใจว่า จะถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็ตาม ทุกคนพูดถูกต้องทุกเรื่อง แต่ไม่มีใครเคยพูดว่า เมื่อปฏิรูปการศึกษาแล้วใครบ้างที่เสียประโยชน์ ตนอยากให้ทุกคนในสังคมไทยออกมาแสดงความเห็นว่า เราอยากเห็นลูกหลานในอนาคตเป็นอย่างไรเพื่อช่วยกันกำหนดนโยบายการศึกษาให้ออกมาเป็นรูปธรรม
ด้าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย และอดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวภายหลังการเสวนาในครั้งนี้ ว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่า การปฏิรูปการศึกษาถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะนำไปสู่การปฏิรูปสังคมไทยในเรื่องอื่นๆ และมีข้อเสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการควรเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมให้มากกว่านี้ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา โดยส่วนตัวเห็นว่า ปัญหาการศึกษาที่ควรเร่งแก้ไข คือ การกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้ท้องถิ่น , การเตรียมคนเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะการพัฒนาและฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่คลังปัญญาอื่นๆ รวมทั้งการใช้สะเต็มศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สังคมไทย
ส่วน นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานคณะกรรมการนโยบายสถาบันฯ กล่าวว่า เราได้รับความคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์มากต่อการกำหนดนโยบายการศึกษาชาติและคิดว่าต้องจัดเวทีระดมความคิดเห็นเช่นนี้อีก และขยายความเห็นออกไปในวงกว้างและดึงประชาชนให้เข้ามาร่วมกำหนดนโยบาย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมนโยบายหรือยุทธศาสตร์ต่างๆ ก็จะได้รับการยอมรับ
ที่มาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไทยรัฐ วันที่ 26 ก.ค. 2559 เวลา 13:40 น.