นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน อยู่ระหว่างการรอลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่าง ธนาคารออมสิน กับ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาแล้วเมื่อเดือนก.พ. 2559 ที่ผ่านมา
โดยโครงการนี้ให้ธนาคารออมสิน ปล่อยวงเงินสินเชื่อใหม่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจ เข้าร่วมโครงการ โดยใช้เงินทายาทจะได้รับในอนาคตเมื่อผู้กู้เสียชีวิตเพื่อใช้ค้ำประกัน อาทิ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) หรือเงินบำเหน็จตกทอด เพื่อนำมาขอเงินสินเชื่อใหม่เพื่อลดภาระหนี้หรือปิดบัญชีหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ จากเดิมปีละ 5.85-6.70% เหลือปีละ 4% เพื่อลดภาระผ่อนชำระหนี้ให้กับข้าราชการครูลงที่อยู่ในข่ายมีหนี้ค้างชำระ กว่า 2.83 แสนราย ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ได้เฉลี่ยรายละ 3-6 แสนบาท ทำให้ลดภาระการผ่อนชำระหนี้เดิมลงเดือนละ 2,000-4,000 บาท หรือบางรายก็สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินมีหนี้สินครูกว่า 4 แสนราย คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ให้ครูราว 5 แสนล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันยอดหนี้เสียครูเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท แต่เมื่อคิดเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบของธนาคารถือว่าหนี้ครู เป็นเอ็นพีแอลไม่ถึง 1%
“หากไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ เชื่อว่าจะมีลูกหนี้รอตกชั้นเพิ่มขึ้นอีกนับหมื่นราย โดยข้อเสนอที่ สกสค. เสนอมานั้น ทั้งธนาคารออมสิน และกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่าเป็นการเอาลูกหนี้มาขอลดดอกเบี้ยเพิ่ม ขณะที่ลูกหนี้เสียบางรายไม่ยอมเข้าโครงการเพราะทางทายาทไม่ยอมเซ็นยินยอมให้หักเงินในอนาคตได้” รายงานระบุ
ที่มาเนื้อหาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559, 06.00 น.