ทำเป็นล่ำเป็นสันมีนายหน้ากินหัวคิวหาเด็กมาเรียน-สร้างเครือข่ายเปิดสอนทั่วปท.
"ชัยยศ" เผยเจ้าหน้าที่ สกอ.ลงพื้นที่สืบมหา'ลัยย่านปทุมธานีรับนักศึกษาเกิน โดยเป็น 1 ใน 10 สถาบันที่ถูกจับตา มีนายหน้าคอยชวนคนมาเรียน สร้างเครือข่ายเปิดสอนตามโรงเรียนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ศธ.เล็งลดเวลาเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิตให้น้อยกว่าปีครึ่ง
นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รองปลัด ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบทางลับกับมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ที่เปิดสอนหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา ซึ่งเข้าข่ายรับนักศึกษาเกินจำนวนที่แจ้งขอเปิดหลักสูตรไว้กับ สกอ. โดยเปิดรับนักศึกษาเป็นจำนวนกว่า 1,000 คน ซึ่งเบื้องต้นพบข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวเปิดสอนหลักสูตรนี้ทั่วประเทศที่ไม่ใช่การเปิดสอนนอกที่ตั้ง แต่เป็นลักษณะเครือข่ายการเรียนเฉพาะกลุ่มตามโรงเรียน มีนายหน้ารับจ้างติดต่อผู้บริหารโรงเรียนในการจัดหาผู้เรียนเพื่อกินค่าหัวคิวด้วย อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยดังกล่าวถือเป็นหนึ่งใน 10 มหาวิทยาลัยที่ถูกตรวจสอบพบว่าเปิดสอนเกินกว่าจำนวนที่ได้รับอนุญาตจาก สกอ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งไว้กับ สกอ. และปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นอกจากนี้ คาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ อีกที่มีพฤติกรรมรับนักศึกษาเกิน โดยเฉพาะในหลักสูตร ป.บัณฑิต โดยมีบางมหาวิทยาลัยออกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อให้มีคนมาเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต เพียงจ่ายค่าเล่าเรียนให้ครบก็สามารถจบ ได้วุฒิการศึกษา โดยไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียนแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้คุรุสภากลับไปทบทวนถึงวิธีการที่จะทำให้การเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต เข้มข้นขึ้น แต่ใช้เวลาลดน้อยลง เพราะหลักสูตร ป.บัณฑิตจะใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปีครึ่ง นายชัยยศกล่าวว่า หลักสูตรนี้ใช้เวลาเรียนวิชาการครึ่งปี และอีก 1 ปีเป็นภาคปฏิบัติฝึกการสอน ขณะนี้คุรุสภาได้ตั้งคณะทำงานศึกษาและพัฒนาหลักสูตร ป.บัณฑิตแล้ว พบว่าในส่วนของการเรียนจริงๆ ใช้ระยะเวลาไม่นานไม่ถึงครึ่งปี แต่ที่เรียนนานก็เพราะเด็กจะต้องไปฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนด้วย เบื้องต้นจึงจะเสนอคณะกรรมการคุรุสภาให้ลดขั้นตอนในส่วนของการปฏิบัติการสอนในโรงเรียน 1 ปีลง แต่ลดเฉพาะในกลุ่มของครูจ้างสอนที่มาเรียน ป.บัณฑิตเพิ่มเติม เช่น ครูที่จบสาขาวิทยาศาสตร์ มาเป็นครูจ้างสอนในโรงเรียน ก็ถือว่าได้ปฏิบัติการสอนอยู่แล้ว เป็นต้น ซึ่งครูจ้างสอนเหล่านี้จะต้องมีหลักฐานตารางสอนและใบรับรองการจ้างงานจากโรงเรียนต้นสังกัดแนบมาให้คุรุสภาพิจารณาด้วย แต่นักศึกษาที่จบใหม่ยังคงต้องเรียนหลักสูตร ป.บัณฑิตครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เหมือนเดิม.
ที่มาเนื้อหาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไทยโพสต์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2559