กลุ่มเครือข่ายชาวอุดมศึกษา ไม่เชื่อฤทธิ์ มาตรา 44 จะแรงจริง เหมือนเป็นการซื้อเวลา ชี้ ประเด็นที่ควรทำกลับไม่ได้ทำ เช่น การกำหนดอายุของนายกสภาฯ กรรมการสภาฯ รวมถึงอธิการบดี ว่าไม่ควรเกินกี่ปี การลดจำนวนสถาบันในการดำรงตำแหน่งของนายกสภาฯและกรรมการสภาฯเพื่อให้มีเวลา ในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่หวังเงินเดือน
วันนี้( 19 ก.ค.) ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา นั้น ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์ ประธานเครือข่ายธรรมา ภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกมาฉบับนี้สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ที่ชัดเจน คือ กรณีกำหนดจำนวนสถาบันของผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาและกรรมการ สภาฯว่ารับได้ไม่เกินกี่แห่ง และไม่ให้รับผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรบ้าง แต่หลายเรื่องก็ไม่ชัดเจนและไม่ได้มีการพูดถึง จึงอาจไม่สามารถแก้ปัญหาธรรมาภิบาลได้อย่างแท้จริง
“คสช.และรัฐบาลอาจเสียศูนย์ได้ เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะมากจากการออกคำสั่งฉบับนี้ เนื่องจากยังไม่มีความเด็ดขาด ขาดความชัดเจนเหมือนเป็นการซื้อเวลา เพราะมีประเด็นที่ควรทำในเวลานี้ทันทีก็ไม่ได้ทำ เช่น การกำหนดอายุของนายกสภาฯ กรรมการสภาฯ รวมถึงอธิการบดี ว่าไม่ควรเกินกี่ปี การลดจำนวนสถาบันในการดำรงตำแหน่งของนายกสภาฯและกรรมการสภาฯเพื่อให้มีเวลา ในการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่หวังเพียงเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่ง ที่สำคัญการกำหนดจำนวนสถาบันของผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯและกรรมการสภาฯควรใช้ ทันทีไม่จำเป็นต้องยกเว้นสำหรับคนที่เป็นก่อนที่คำสั่งนี้จะมีผลใช้บังคับ ทั้งเชื่อว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้มีปรากฎในคำสั่ง คสช.ครั้งนี้น่าจะถูกนำไปใส่ไว้ใน พ.ร.บ.การอุดมศึกษา แต่ก็ไม่ทราบว่าอีกนานเท่าไหร่ พ.ร.บ.การอุดมศึกษาจึงจะออกมาได้”ผศ.ดร.สัมฤทธิ์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามข้อย้ำว่าทางเครือข่ายธรรมาภิบาลฯยังไม่ค่อยสบายใจนัก กับคำสั่ง คสช.นี้ เพราะหลังจากนี้ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจก็ต้องออกมาให้ข้อมูลอีกทางหนึ่งที่อาจ สร้างความลำบากใจให้แก่คณะทำงานได้
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภา คณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) กล่าวว่า ม.44 ที่ออกมาน่าจะใช้แก้ปัญหาสถาบันอุดมศึกษาที่มีความขัดแย้งรุนแรงเฉพาะหน้า ได้เท่านั้น แต่คงสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดในสถาบันอุดมศึกษาได้ยาก เพราะยังเป็นการใช้อำนาจอย่างเกรงใจ กล้า ๆ กลัว ๆ เช่น การแต่งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯไม่เกิน 3 แห่ง และกรรมการสภาฯไม่เกิน 4 แห่ง ก็ดูจะมากเกินไปอยู่ จริง ๆแล้ว ทั้ง 2ตำแหน่งนี้ไม่ควรเป็นเกิน 2 แห่งและอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2วาระติดต่อกันพอ เพราะอยู่นานเกินไปจะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์นำไปสู่สภาเกาหลังอีก ส่วนอายุก็ต้องจำกัดไม่เกิน 75 ปี มิฉะนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพได้ รวมถึงควรห้ามอธิการบดีไปดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ และห้ามกรรมการ กกอ.ไปดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ หรือกรรมการสภาฯ แต่กรณีที่เป็นอยู่ก็ควรให้พ้นจากตำแหน่งทันที ทั้งนี้น่าจะมีการระบุสิ่งเหล่านี้ลงในคำสั่ง คสช.เพื่อจะได้มีผลทันที และระยะยาวต้องนำไปบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ด้วย
ขอบคุณที่มาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เดลินิวส์ วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2559 เวลา 08.50 น.