[สยามรัฐ] - "กำจร"เผยระยะยาวมีพ.ร.บ.อุดมศึกษาถ่วงดุลสภาฯ
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.59 รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามความใน ม.44 ของรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งเรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น การใช้ ม.44 แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นแนวทางเบื้องต้น แต่ระยะยาวจะต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสาระสำคัญไว้ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา มีลักษณะเดียวกับคำสั่งใน ม.44 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าถ่วงดุลอำนาจสภามหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สภามหาวิทยาลัย เป็นองค์กรสูงสุดในมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีใครเข้าไปดูแลได้
ทั้งนี้ คำสั่ง ม.44 ไม่ได้ไปล้วงลูกแต่เข้าไปดูแลการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดความเรียบร้อยขึ้น ซึ่งแกนหลักคือมหาวิทยาลัย ที่มีพฤติกรรมตาม ข้อ4ของคำสั่ง คสช.ที่ระบุว่าจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา หรือมาตรฐานหลักสูตร จนอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่นิสิต นักศึกษา ระบบการศึกษา สังคม หรือประเทศชาติ จงใจหลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษา หรือคำสั่งของ รมว.ศึกษาธิการ ที่สั่งการตามคำสั่งนี้ หรือตามกฎหมาย นายกสภาฯ กรรมการสภาฯ หรือผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบันอุดมศึกษา จนสภาฯ หรือสถาบันอุดมศึกษา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้ หาก กกอ.เห็นว่ามีปัญหาก็สามารถส่งคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบได้แต่เบื้องต้นจะให้โอกาสสภามหาวิทยาได้แก้ปัญหาให้ได้ก่อน
"มหาวิทยาลัย ที่รู้ตัวว่ามีปัญหาทั้งที่เคยเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนกับ รมว.ศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยที่มีปัญหายืดเยื้อมานาน ขอให้สภาฯ กลับทบทวนและหาทางแก้ปัญหาให้ได้ ทาง กกอ.จะยังไม่เข้าไปตรวจสอบอะไร ส่วนจะให้เวลาสภาฯ ในการแก้ปัญหานานแค่ไหน คงไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา แต่คงให้เวลาไม่นานนัก โดยมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเร่งแก้ปัญหามีอยู่ประมาณ 10% ของมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ หรือคิดเป็นประมาณเกือบ 20 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องการรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)รับทราบ จำนวน11แห่ง นอกนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาการทุจริต ของผู้บริหาร ความแตกแยกของสภาฯ กับฝ่ายบริหาร สภาฯ อาศัยช่องทางกฎหมายสั่งปลดอธิการบดี เป็นต้น"ปลัด ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ สยามรัฐ วันที่ 14 กรกฎาคม 2559