[เดลินิวส์] - “ปลัดศธ.”เตือนมหา’ลัยที่มีปัญหาเร่งแก้ปัญหาภายในก่อนที่ กกอ.จะเข้าไปจัดการ เผยมีมหาวิทยาลัยอีกเกือบ 20 แห่งอาจเป็นคิวโดนเชือดถัดไป
วันนี้(14 ก.ค.)รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหามหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ ต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการแล้ว โดยเสนอให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และรองอธิการบดี
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การใช้ ม.44 แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น แต่ระยะยาวจะต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญลักษณะเดียวกับคำสั่งใน ม.44 ที่ให้อำนาจ กกอ.เข้าไปถ่วงดุลอำนาจสภามหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดในมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีใครเข้าไปดูแลได้ โดยขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.ตาม ม.44 นี้ ไม่ได้ไปล้วงลูกมหาวิทยาลัย แต่เข้าไปช่วยดูแลการบริหารงานให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งเป้าหมายหลัก คือ มหาวิทยาลัยที่มีพฤติกรรมตามข้อ 4 ของคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ ที่ ระบุว่า 1.จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา หรือมาตรฐานหลักสูตร จนอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่นิสิต นักศึกษา ระบบการศึกษา สังคม หรือประเทศชาติ 2. จงใจหลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษา หรือคำสั่งของรมว.ศึกษาธิการ ที่สั่งการตามคำสั่งนี้ หรือ ตามกฎหมาย 3. นายกสภาฯ กรรมการสภาฯ หรือผู้บริหารสถาบันมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต และ 4.ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบันอุดมศึกษา จนสภามหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
“การดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าวในเบื้องต้นจะให้โอกาสสภามหาวิทยาลัยกลับไปทบทวน เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ได้ก่อน กกอ.จะยังไม่เข้าไปตรวจสอบอะไร ส่วนจะให้เวลานานแค่ไหน คงไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา แต่คงไม่นานนัก หากไม่เร่งแก้ไขก็อาจจะเป็นคิวถัดไป โดยมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเร่งแก้ปัญหามีอยู่ประมาณ 10% ของมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ หรือเกือบ 20 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องการรับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)รับทราบ มหาวิทยาลัยที่มีปัญหาการทุจริตของผู้บริหาร ความแตกแยกของสภามหาวิทยาลัยกับฝ่ายบริหาร หรือกรณีที่สภามหาวิทยาลัยอาศัยช่องทางกฎหมายสั่งปลดอธิการบดี เป็นต้น” รศ.นพ.กำจรกล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2559 เวลา 16.18 น.