ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาขับเคลื่อนเบื้องต้น 3 เดือน โดยจะมีการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน ว่า เบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการควรมีการประเมินการดำเนินงานของ กศจ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บูรณาการนโยบายจากระดับบนสู่ระดับ พื้นที่และจากระดับพื้นที่ขึ้นสู่ระดับบน โดยหลักการแล้ว กศจ.ต้องมีการทำงานในลักษณะกระจายอำนาจ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีกรรมการ 22 คน แต่จากการที่ตนรับฟังความเห็นจากพื้นที่ต่างๆพบว่า กรรมการ 22 คนนั้นไม่ควรกำหนดจำนวนเท่ากันทุกจังหวัด ควรมีความยืดหยุ่นประมาณ 22-30 คน แล้วแต่ขนาดของจังหวัด ทั้งการบริหารงานก็อิงกับระบบบริหารงานแบบกระทรวงมหาดไทยมากเกินไป
นอกจากนี้กรรมการควรเพิ่มเติม เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตัวแทนสภานักเรียน หรือสภาเด็กและเยาวชน อธิการบดีมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เอ็นจีโอ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตนขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ, กศจ. ทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อให้การประเมินผล กศจ.และแก้ไขจุดอ่อนเพื่อบรรจุโครงสร้างใหม่นี้ไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่ง ชาติฉบับใหม่ได้ทัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไทยรัฐ วันที่ 11 ก.ค. 2559 เวลา 05:15 น.