รัฐบาลลุยแก้หนี้นอกระบบหลังประชามติ คลังชง "แพ็กเกจ" ใหญ่หวังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน "ธ.ก.ส.-ออมสิน" เตรียมสินเชื่อรีไฟแนนซ์-สินเชื่อเงินด่วน/ฉุกเฉินคิดดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเปิดให้ลูกหนี้แจ้งสถานะการเป็นหนี้ตอนไปลงทะเบียนสวัสดิการรัฐ 15 ก.ค.-15 ส.ค. หวังใช้เป็นฐานข้อมูล
แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ธ.ก.ส.จะมีสินเชื่อสำหรับรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี หรือประมาณ 1% ต่อเดือน ผ่อนชำระ 10 ปี สูงสุด 12 ปี ซึ่งโครงการเดิมที่ ธ.ก.ส.ทำอยู่แล้ว มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท จะสิ้นสุดในปี 2561 โดยปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วราว 3,000-4,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกหนี้นอกระบบกว่า 30,000 ราย
"โครงการเดิมเราจะให้กู้รีไฟแนนซ์ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย แต่กรณีมีที่ดินติดจำนองด้วย ก็จะให้ถึง 1.5 แสนบาทต่อราย แต่โครงการใหม่ที่จะทำ ยังต้องดูว่าจะมีการปรับวงเงินมูลหนี้ต่อรายขึ้นเป็น 2 แสนบาทหรือไม่ หลังจากผ่านช่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงจะเสนอเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วงวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ ส่วนหนึ่งจะมีให้กรอกข้อมูลการเป็นหนี้นอกระบบด้วย ซึ่งก็อาจจะทำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในระยะข้างหน้าต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากการปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่ถือเป็นการช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นแล้ว ธ.ก.ส.มีแนวคิดว่าจะให้สถาบันและองค์กรการเงินชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย เนื่องจากมีความใกล้ชิดและรู้จักลูกหนี้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันและองค์กรการเงินชุมชนที่ผ่านเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.อยู่ราว 130 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งธนาคารอาจจะให้เงินทุนแห่งละ 1 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 5% ต่อปี เพื่อปล่อยกู้ต่อแก่ลูกหนี้นอกระบบในชุมชน 2 ลักษณะ คือ สินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ และสินเชื่อลักษณะเงินด่วน เพื่อป้องกันการไปกู้นอกระบบ
ก่อนหน้านี้ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเตรียมออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และกลุ่มแม่บ้านที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งจะมีการเสนอ ครม. พิจารณาสนับสนุนการคิดดอกเบี้ยต่ำในการแปลงหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยน่าจะไม่เกิน 1% ต่อเดือน ทั้งนี้นอกจากสินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้แล้ว ก็ยังจะมีสินเชื่อฉุกเฉินวงเงิน 3,000-5,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะมีลูกค้ากู้ราว 1 แสนรายด้วย
ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น รัฐบาลจะเริ่มหลังจากผ่านการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.ไปแล้ว โดยกระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.เห็นชอบมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมรายละเอียดไว้แล้วเป็น "แพ็กเกจ" รวมถึงร่างประกาศที่จะใช้มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีด้วย
"ข้อมูลจากการลงทะเบียนเพื่อใช้สวัสดิการรัฐอาจจะใช้ประโยชน์ในภายหลังแต่มาตรการที่เราจะทำสามารถเดินหน้าได้เลยโดยไม่ต้องรอข้อมูลนั้นเพราะเมื่อเริ่มโครงการคนที่รู้ตัวว่าเป็นหนี้นอกระบบก็สามารถเดินเข้ามาแก้ปัญหาได้เลย แต่คนที่เรารู้ว่าเขาเป็นหนี้นอกระบบ ก็อาจมีการเรียกเข้ามาถามก็ได้ว่าสนใจไหม เราจะช่วยดูแลให้" นายสมชัยกล่าว
นายสมชัยกล่าวว่า สำหรับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.จะต้องมีบทบาทในการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนขึ้น โดยมาตรการใดที่เคยทำแล้วและใช้ได้ดีอยู่แล้ว ก็นำมาใช้ต่อ อาทิ การคิดดอกเบี้ยต่ำสำหรับสินเชื่อที่แปลงหนี้เข้ามาสู่ระบบ เป็นต้น ส่วนการกำหนดวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับแบงก์ ที่ต้องดูความต้องการของลูกหนี้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน
"เมื่อมีมาตรการออกมาแล้ว หลังจากนั้นทั้ง 2 แบงก์จะต้องทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแล้วหยุด โดยเราจะทำดัชนีชี้วัดประเมินผลดำเนินงาน (KPI) และแบงก์ต้องตั้งสำนักขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนทำเรื่องนี้อย่างเดียวเลย" นายสมชัยกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ก.ค. 2559 เวลา 10:25:30 น.