ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหารฝ่ายการเมือง และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลักและหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม
เรื่องในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้นำเรื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี มาแจ้งให้ที่ประชุมองค์กรหลักได้รับทราบในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น
- การจัดทำคลิปวีดิทัศน์สั้นๆ ของหน่วยงานต่างๆ ให้น่าสนใจต่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
- การวางแผนประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) ซึ่งได้ฝากให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปวางแผนการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และเป้าหมายในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
- โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) พิจารณารวบรวมการจัดทำโครงการหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี โดยขอให้ดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและสมพระเกียรติ
- การดำเนินการต่อยอดนโยบาย Boot Camp ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะขยายการอบรมครูในภูมิภาค 4 ศูนย์ทั่วประเทศในเทอมหน้า โดยขอให้ชี้แจงความก้าวหน้าให้สาธารณชนรับทราบด้วย
- การแจกจ่ายมติคณะรัฐมนตรีภายหลังการประชุม โดยขอให้ สป. และสำนักงานรัฐมนตรี (สร.) วางระบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบมติ ครม. โดยเร็ว เพื่อเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานตามนโยบายขององค์กรหลักและหน่วยงานต่าง ๆ
1) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
- การเสริมสร้างรายได้ผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น ที่ประชุมได้หารือแนวทางการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ผู้เรียนอาชีวศึกษา ซึ่งที่ผ่านมานอกเหนือจากรายได้ที่ได้รับจากการฝึกงานในระบบทวิภาคีแล้ว ยังมีรายได้อื่น ๆ แต่อาจจะยังไม่ถูกกฎระเบียบมากนัก เช่น รับจัดงานเลี้ยง เปิดร้านกาแฟภายนอกสถานศึกษา ฯลฯ โดยเจตนารมณ์ของ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้เด็กอาชีวะมีรายได้จากการรับงานภายนอกได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษา และเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานด้วย จึงเห็นว่าควรวางระบบให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือผู้เรียนอาชีวะ การปรับตารางเวลาเรียน ฯลฯ ให้เด็กสามารถทำงานนอกเวลาเรียนหรือวันหยุดราชการได้ โดยจะนำเรื่องรายได้เหล่านี้ไปหารือกับกรมบัญชีกลางต่อไป
- การวางแผนจัดสอบครูผู้สอน ขอให้ สอศ. ได้วางแผนพัฒนาครูผู้สอนในสังกัด เช่นเดียวกับนโยบายการจัดสอบครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้น ม.3 ซึ่งจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2560 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกันจัดสอบเพื่อให้ครูได้รับการส่งเสริมพัฒนาตามความต้องการจำเป็น โดยไม่ได้นำคะแนนไปอบรมพัฒนาเท่านั้น แต่จะแยกพิจารณาเป็นรายคน เช่น ครูคนนี้เก่งฟิสิกส์ อ่อนชีววิทยา ก็จะได้เติมเต็มครูในส่วนที่ขาด เป็นต้น ซึ่งโดยหลักการพัฒนาครู จำเป็นจะต้องดูเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของครูด้วย
2) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
- การใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไป สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่มีปัญหา รวมทั้งมหาวิทยาลัยทั่วไป ได้ให้ความสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาเกิดจาก 3 เรื่อง คือ การพิจารณาหลักสูตร สภามหาวิทยาลัยกับฝ่ายบริหาร และบุคลากรกับฝ่ายบริหาร
- การจัดสอบ TU-STAR (TU Standardized Test of Aptitude Requirement) โดย สกอ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบการจัดสอบดังกล่าว ซึ่งเป็นระบบการทดสอบแบบใหม่เพื่อการรับตรงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีโครงสร้างการสอบ 3 ส่วนหลัก คือ 1) ทักษะและความพร้อมสำหรับอุดมศึกษา (Aptitude for Higher Education) 2) ความรู้ทางวิชาการระดับมัธยมศึกษา (Academic Performance) 3) ความถนัดทางวิชาชีพ (Aptitude for Specific Professions) ผลคะแนนสอบ TU-STAR มีอายุ 2 ปี นับแต่วันที่สอบ โดยกำหนดจัดสอบ 8 ครั้งต่อปีการศึกษา สอบครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครสอบรวมทั้งสิ้น 20,602 คน
- ประเด็นนี้ รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าแนวคิดของนโยบายการศึกษาของรัฐบาล คือ ต้องการลดภาระของผู้เรียน สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กยากจนหรือด้อยโอกาส ซึ่งการเปิดสอบกรณีนี้ ทำให้เด็กมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องรับฟังแนวคิดของสถาบันอุดมศึกษาด้วย จึงขอให้ สกอ.เชิญสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือเพื่อรับฟังแนวคิด เหตุผลความจำเป็น เพื่อจะได้รับทราบแนวทางที่หลากหลายและวิธีที่ดีที่สุดที่จะตอบโจทย์จากทุกฝ่ายทั้งในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาและเด็กนักเรียน
3) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2574) สกศ.รายงานว่าขณะนี้ได้ดำเนินการตามปฏิทินตามข้อแนะนำของสภาการศึกษา ซึ่งสัปดาห์นี้จะได้รวบรวมรายละเอียดข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากกรรมการสภาการศึกษาชุดเดิมก่อนที่จะหมดวาระ เพื่อนำมาจัดทำ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติให้เสร็จสิ้น เพื่อนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
4) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- การซ่อมแซมบ้านพักครูที่ชำรุดทรุดโทรม สพฐ.รายงานความก้าวหน้าการซ่อมแซมบ้านพักครูที่ชำรุดทรุดโทรมทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 13,000 หลัง จากจำนวนบ้านพักครูทั้งหมดทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 40,000 หลัง ในจำนวนนี้ได้ซ่อมเสร็จไปแล้วกว่า 2,300 หลัง ส่วนที่เหลือ สพฐ.ได้ตั้งงบประมาณซ่อมแซมให้เสร็จสิ้นในปี 2560 ไว้แล้วจำนวน 1,395 ล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 2561 จำนวน 695 ล้านบาท อาจจะต้องเสนอขอแปรญัตติการใช้จ่ายงบประมาณต่อไป
- การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สพฐ.ได้นำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าขณะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน) จำนวนทั้งสิ้น 15,537 โรงเรียน โดยแบ่งโรงเรียนออกเป็นกลุ่มตามความจำเป็นในการบริหารจัดการ เช่น กลุ่มที่มีคุณภาพสูง ซึ่งต้องดำเนินการต่อไปเพราะเป็นที่ยอมรับของชุมชน 30 โรงเรียน กลุ่มที่คงสภาพอยู่ เพราะตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารหรือพื้นที่สูง 336 โรงเรียน กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเกิน 6 กิโลเมตรกับโรงเรียนอื่น ซึ่งอาจทำให้เด็กเดินทางไปเรียนลำบากหากไม่มีโรงเรียนเหล่านี้ตั้งอยู่ 3,295 โรงเรียน รวมโรงเรียนที่ต้องคงสภาพอยู่จำนวนทั้งสิ้น 3,661 โรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่จำเป็นต้องบริหารจัดการในขณะนี้มีจำนวน 10,976 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คน จำนวน 1,050 โรงเรียน ซึ่งต้องพิจารณาบริหารจัดการก่อนเป็นลำดับแรก โดยแนวทางการบริหารจัดการต้องสนับสนุนความต้องการของชุมชน และไม่เกิดความขัดแย้งกับชุมชน
- การบริหารจัดการโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่ามีโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา (ตั้งขึ้นมาในขณะที่สังกัด สปช.) หลายแห่งที่ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนมัธยมศึกษา ส่งผลให้โรงเรียนขยายโอกาสฯ หลายแห่งมีจำนวนนักเรียนเหลือน้อยลงมากขึ้นทุกปี ประกอบกับจำนวนเด็กเกิดลดลง จึงควรพิจารณาหาแนวทางบริหารจัดการเพื่อให้เกิดคุณภาพต่อนักเรียนมากขึ้น
- การศึกษาเด็กปฐมวัย ปัจจุบันการรับเด็กเข้าเรียนอนุบาลทั้งสถานศึกษาเอกชนหรือรัฐบาล แม้จะใช้เกณฑ์การนับอายุเหมือนกัน แต่สถานศึกษาเอกชนจัดเป็น 3 ระดับชั้น คือ ระดับอนุบาลปีที่ 1 ระดับอนุบาลปีที่ 2 และระดับอนุบาลปีที่ 3 แต่สถานศึกษาของรัฐมี 2 ระดับ คือ ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 และระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 จึงขอให้ สพฐ.ไปพิจารณาหารือเพื่อจัดระบบการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หรืออาจศึกษาแนวคิดหลักในการจัดการศึกษาของต่างประเทศว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการเห็นว่าเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ต้องได้รับการพัฒนาสูงสุด ในขณะที่เงินรายหัวมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกันขอให้มีการอบรมพัฒนาและพิจารณาสัดส่วนครูผู้สอนเด็กปฐมวัยในปัจจุบันซึ่งมีจำนวนประมาณ 9,000 คนให้เหมาะสม ซึ่งจะต้องวางแผนพัฒนาให้เป็น Demand Side และพิจารณาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทยในการดูตัวเลขอัตราการเกิดของประชากรไทยประกอบด้วย
- เด็กออกกลางคัน ในการประชุมศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศ เห็นพ้องร่วมกันว่าจะนำ "สตูลโมเดล" เป็นแนวทางดำเนินการ โดย รมว.ศึกษาธิการ ย้ำว่าจะต้องนำไปพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละจังหวัดด้วย
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.)
- การแก้ไขหลักเกณฑ์ฯ นำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย สพฐ. โดยได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า ได้ยกเลิกการกำหนดวิธีการสอบข้อเขียนแบบปรนัยและการสอบสัมภาษณ์แล้ว และให้ กศจ.พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเสมอภาค ทั้งนี้ อายุการขึ้นบัญชีให้มีอายุบัญชีเท่าเดิม
- การบริหารงานบุคคลของ กศจ. ซึ่งเห็นชอบให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการสรรหากรรมการใน กศจ. ในส่วนของผู้แทนครูในท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่นให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน
- การสรรหาผู้อำนวยการสถานศึกษา ได้หารือในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง เช่น ความเหมาะสมคุณสมบัติ วิธีการที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง ปัญหาที่ผู้บริหารทิ้งภาระเอาไว้ที่สถานศึกษาเมื่อย้ายออกไป วุฒิภาวะ ความรู้ความสามารถ คุณธรรมจริยธรรม ภาวะผู้นำ ฯลฯ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ย้ำว่าการจะปรับปรุงหลักเกณฑ์แก้ไขใดๆ โดยหลักการจะต้องรับฟังความเห็นและการยอมรับร่วมกันของ Stakeholder ก่อน
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)
- การส่งเสริมการอ่านหนังสือของประชาชน ให้สำนักงาน กศน.เดินหน้าเต็มตัวในเรื่องนี้ เพราะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยให้พิจารณาวางแผนขับเคลื่อนการทำงาน และนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ โดยเร็ว
- การยกระดับการศึกษาสำหรับพนักงานรักษาความปลอดภัย 270,000 คน ซึ่งจะมีทั้งส่วนของการพัฒนายกระดับการศึกษาและการเทียบโอนการศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
- การจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน ซึ่ง สช.ได้รายงานว่ามีโรงเรียนเอกชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 35 โรงเรียน โดย สช.จะสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการอบรมพัฒนาครู
- การจัดสอบครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ชั้น ม.3 โดย สช.พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายนี้ร่วมกับ สพฐ. และ สสวท. ต่อไป
สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)
- การสร้างความเข้าใจในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของนิติกร ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเสนอให้นิติกรทั้งกระทรวงได้มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาถึงมาตรฐาน จรรยาบรรณ การดูแลคดีความของงานนิติการ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดีต่าง ๆ ที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยและขอให้สร้างความเข้าใจในการพิจารณาร่วมกัน ส่วนบางงานอาจต้องดำเนินการในรูปแบบ Task Force
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
6/7/2559
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 6 กรกฎาคม 2559