สปท.ยอมรับคำวิจารณ์ เสนอควบรวมโรงเรียนเล็ก ซ้ำซ้อนภารกิจ สพฐ. อ้างที่ผ่านมา"ล้มเหลว" ต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นการทำงานข้าราชการที่ไม่ตอบสนองนโยบาย ชี้เกิดปัญหาเพราะเข้าไม่ถึง "ท้องถิ่น" ด้านสพฐ.ระบุยังมีหลายแนวทางต้องพิจารณา ทั้งควบรวมบางส่วน-หมุนเวียนครู-เรียนทางไกลผ่านดาวเทียม จากกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงแนวทางการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ล่าสุดที่ประชุม 3 ฝ่ายที่มีรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมอยู่ด้วยเห็นชอบข้อเสนอของสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานหลัก ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการอยู่แล้ว นั้น
นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวยอมรับคำวิจารณ์ของ นักวิชาการด้านการศึกษาถึงความซ้ำซ้อนในข้อเสนอควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สพฐ. เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
"เราพยายามทำเรื่องนี้ เพราะการกระจายตัวของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นความไม่คุ้มค่า เด็กไม่ได้รับประสิทธิผลทางการศึกษา การปล่อยให้มีโรงเรียนขนาดเล็กแล้วให้ครูคนเดียวสอนนักเรียน 4-5 ชั้นเรียน จะไม่เป็นผลดีกับการจัดการศึกษา"
นายชิงชัย กล่าวว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในอดีต ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ขาดการมีส่วนร่วม ทั้งที่พูดกันอยู่เสมอถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ที่ผ่านมา สพฐ.คงไม่ได้ลงลึกถึง อปท. ทำให้โครงการไม่สมบูรณ์แบบ การนำเสนอยุบโรงเรียนขนาดเล็กในครั้งนี้ แม้จะซ้ำซ้อน แต่ก็ถือเป็นการช่วยกระตุ้นงานของ สพฐ. รวมถึงการไม่ตอบสนองของข้าราชการ ที่รับนโยบายแล้วไม่ปฏิบัติ ไม่ทำงานอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ การพูดคุยกันเพื่อร่วมกันดำเนินการยังไม่ทราบรายละเอียด แต่จะต้องมีการหารือเพื่อหาทางร่วมกันทำงาน ซึ่งจริงอยู่ที่ข้าราชการไม่ต้องเชื่อฟัง สปท. แต่การทำงานของ สปท.ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันผลักดันให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ
ด้านแหล่งข่าวสพฐ. ระบุว่าการควบรวมที่มีการพูดถึงกันนั้น เมื่อมีการเริ่มดำเนินการอาจไม่ใช้ชื่อโครงการดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร และจะไม่มีการยุบทิ้งโรงเรียน แต่จะใช้วิธีการบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมที่สุด
โดยโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.ที่ขณะนี้มีอยู่ 15,577 แห่ง ในการประชุมผู้บริหาร สพฐ.เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการแบ่งโรงเรียนเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.โรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพสูง 975 แห่ง และ 2.โรงเรียนที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีข้อจำกัด คือ โรงเรียนพื้นที่พิเศษ ห่างไกล พื้นที่สูงหรือเกาะ 336 แห่ง และโรงเรียนที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนใกล้เคียงเกิน 6 กิโลเมตร 3,295 แห่ง จะให้คงสภาพไว้ก่อน โรงเรียนที่จะต้องเข้าจัดการคือกลุ่มที่ 3 โรงเรียนทั่วไปที่ห่างจากโรงเรียนใกล้เคียงไม่เกิน 6 กิโลเมตร 10,971 แห่งที่จะต้องเข้าสู่การบริหารจัดการ และควบรวม ภายในปี 2559-2560 เพื่อให้มีครูครบชั้น และมีจำนวนนักเรียนต่อห้องที่เหมาะสม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือการควบรวมทั้งโรงเรียนโดยให้ครูและนักเรียนไปจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง หรืออาจควบรวมบางส่วนแล้วให้จัดการเรียนการสอนใน 2 โรงเรียนแต่แยกระดับกัน
โดยสพฐ.จะให้การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน และวัสดุครุภัณฑ์อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ ส่วนจะควบรวมโรงเรียนได้จำนวนเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาและความเข้าใจของชุมชน อย่างไรก็ตามแนวทางการควบรวมยังไม่ได้สรุปตายตัว แต่ยังคงต้องมีการหารือกันและฟังความเห็นจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เนื่องจากยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น ใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูในบางรายวิชา แนวทางที่สอง ใช้ระบบหมุนเวียนครูผู้สอน ไปยังโรงเรียนขนาดเล็กในบางพื้นที่ และแนวทางที่สามจัดเรียนรวมชั้น โดยนำโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กันมารวมเป็นเครือข่าย แล้วร่วมกันจัดการศึกษาแบบรวมเรียน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ