“ดาว์พงษ์” สั่ง ก.ค.ศ.ทำเกณฑ์ประเมินคงสภาพวิทยฐานะครู ตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ชี้รัฐต้องจ่ายเงินวิทยฐานะปีละ 2.1 หมื่นล้านบาท เผยกฎหมายกำหนดไว้แรง ไม่ผ่านประเมินงดจ่ายเงินวิทยฐานะ สูงสุดถึงให้ออกราชการ
วันนี้ (4 ก.ค.)พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ว่า มาตรา 55 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะ ๆ เพื่อดำรงไว้ ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่ง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ค.ศ.กำหนด แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหลักเกณฑ์และการประเมินให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตนจึงมอบให้สำนักงานก.ค.ศ.ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิทยฐานะ และคิดหลักเกณฑ์การประเมินแล้ว
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า วันนี้เราต้องจ่ายค่าวิทยฐานะให้แก่ครูและบุคลากรฯ ประมาณปีละ 21,000 ล้านบาท จำแนกเป็น
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)
- วิทยฐานะชำนาญการประมาณ 108,000 คน
- ชำนาญการพิเศษประมาณ 222,000 คน
- เชี่ยวชาญ 894 คน
- เชี่ยวชาญพิเศษ 1 คน
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)
- ชำนาญการ 599 คน
- ชำนาญการพิเศษประมาณ 1,200 คน
- เชี่ยวชาญ 53 คน
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)
- ชำนาญการ 6,889 คน
- ชำนาญการพิเศษ 5,658 คน
- เชี่ยวชาญ 122 คน
โดยวิทยฐานะชำนาญการได้รับ 3,500 บาท ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท เชี่ยวชาญ 9,900 บาท เชี่ยวชาญพิเศษ 15,600 บาท
“ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดที่จะยกเลิกวิทยฐานะ แต่ที่ทำก็เพื่อปกป้องครู และทำเพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าของวิทยฐานะที่ครูมี ไม่ให้โจมตีได้ว่าครูรับเงินวิทยฐานะไปแล้วละทิ้งห้องเรียน หรือคุณภาพผู้เรียนลดลง และทำให้วิทยฐานะยั่งยืน เพราะฉะนั้นต่อไปการได้รับวิทยฐานะที่สูงขึ้นต้องมีผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียน โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีระบบการประเมินและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับทั้งจากผู้ประเมิน และผู้ถูกประเมิน โดยจะพยายามให้เริ่มใช้ได้ในปีหน้า” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
ด้านนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานก.ค.ศ.เคยยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินฯไว้แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามก่อนประกาศใช้ รมว.ศธ.กำชับว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องยอมรับกับหลักเกณฑ์นี้ด้วย เช่น ประเมินทุก 3 ปี 5 ปี หรือ 1 ปี เป็นต้น เพราะในมาตรา 55 กำหนดไว้ว่า กรณีที่ไม่ผ่านการประเมินให้ ก.ค.ศ.ดำเนินการตามความเหมาะสม ดังนี้
1.พัฒนาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานได้
2.หากไม่สามารถพัฒนาได้ตามระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะงดเงินประจำตำแหน่งหรือเงินวิทยฐานะและแต่กรณี และ
3.กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2559 เวลา 17.40 น.