ปรับโครงสร้างตารางเรียน ป.1-ป.3 ใหม่ ให้เรียนวิชาภาษาต่างประเทศ ภาษาไทย คณิต อย่างน้อยวันละชั่วโมง พร้อมกับยกเครื่องการผลิตตำรา มีมาตรฐานกลางและตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบแบบเรียนของแต่ละสำนักพิมพ์ทั้งรัฐและเอกชน ว่ามีคุณภาพหรือไม่
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมการบริหารหลักสูตรภายใต้นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และการพัฒนาคุณภาพหนังสือเรียน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับโครงสร้างตารางเรียนของนักเรียนชั้นประถมต้น ระดับ ประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้วิชาภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ต้องมีการเรียนการสอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และวิชาอื่นๆ นั้น จะยังคงมีชั่วโมงเรียนเช่นเดิม และเพิ่มการบูรณาการเข้ากับโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ด้วย ซึ่งโครงสร้างนี้จะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับโครงสร้างตารางเรียนของชั้นเรียนอื่นๆ ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4-มัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้น ยังคงอยู่ระหว่างการหารือ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการตามกรอบที่ว่า ประเทศต้องการคนแบบใด และจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เป็นไปตามนั้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการกำหนดแนวทางมาตรฐานของแบบเรียนทุกรายวิชา ซึ่งการกำหนดมาตรฐานทุกครั้งได้รับความร่วมมือจากประเทศอังกฤษและสิงคโปร์ ที่จะแนะนำว่าแบบเรียนที่ดีและได้มาตรฐาน ควรมีลักษณะอย่างไร เช่น แต่ละช่วงวัยควรต้องใช้แบบเรียนแบบไหน วัตถุประสงค์ที่จะได้รับจากแบบเรียนที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้แนวทางออกมาแล้วจะมีการอบรมเพื่อชี้แจงให้ทุกสำนักพิมพ์ทราบแนวทางมาตรฐานดังกล่าว และจะไม่มีการบังคับว่าจะต้องพิมพ์ในรูปแบบไหน แต่ ศธ.จะตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมา เพื่อตรวจสอบแบบเรียนของแต่ละสำนักพิมพ์ทั้งรัฐและเอกชน ว่าคุณภาพของแบบเรียนอยู่ในเกณฑ์ใด อาจจะแบ่งลำดับ ดีมาก ดี ปานกลาง น้อย เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะกระตุ้นทุกสำนักพิมพ์กระตือรือร้นที่จะพิมพ์แบบเรียนที่มีคุณภาพในทุกวิชามากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของวิชาสังคมศึกษา แบบเรียนจะต้องผ่านการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยาด้านเด็ก ก่อนที่จะเข้าสู่คณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานว่าแบบเรียนเหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัยหรือไม่
"ที่ผ่านมาเราไม่มีกระบวนการกำหนดมาตรฐานผลิตตำรา แต่จะใช้หลักสูตรแกนกลางที่เป็นแนวทางในการผลิตแบบเรียน ดังนั้น ต่อจากนี้แบบเรียนจะไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาอีกต่อไป แต่จะหันมาแข่งขันกันในส่วนของคุณภาพ และผมเชื่อว่าถ้าประเทศเรามีแบบเรียนที่ดีจะมีผลต่อการปฏิรูปการศึกษาแน่นอน เพราะครูส่วนใหญ่จะสอนตามแบบเรียน ถ้าแบบเรียนดีเด็กที่เรียนก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย" รมช.ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 4 กรกฎาคม 2559