ศูนย์สหวิทยาการมะเร็งบำบัด โชว์นวัตกรรมการตรวจหามะเร็งก่อนป่วย พร้อมเผยวิธีการรักษาด้วยกัญชาสำหรับคนแพ้เคมีบำบัด-ฉายแสง ด้านกรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทยเปรยอยากให้ไทยถอนกัญชาออกจากยาเสพติดเร็ว ๆ
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่แพทยสมาคม รศ.นพ.ชาญวิทย์ โคธีรานุรักษ์ รองคณบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการต้านมะเร็งครั้งที่ 1 Cancer 4.0 โดยศูนย์สหวิทยาการมะเร็งบำบัด หัวข้อวิทยาการต้านมะเร็ง แบบเจาะลึกกลยุทธ์พิชิตมะเร็ง เพื่อเป็นความรู้ให้แก่ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานเสวนาฟรี
รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร นักวิยาศาสตร์ด้านการถอดรหัสพันธุกรรม Femto Lab กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตรกรรมการตรวจยีนถอนรหัสดีเอ็นเอ เราสามารถตรวจได้จากเลือด ทำให้สามารถทราบว่าในอนาคตจะป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง รวมถึงหากตรวจพบมะเร็งแล้วก็ยังสามารถวางแผนชะลอโรคได้ จึงแตกต่างจากในอดีตที่ต้องรอให้ป่วยก่อนจึงจะนำชิ้นเนื้อมาตรวจและรับการรักษา ซึ่งปัจจุบันการรักษามะเร็งที่เป็นมาตรฐานมี 2 วิธีคือการฉายรังสีและเคมีบำบัด แต่ทั้ง 2 วิธีนี้มีผลข้างเคียงอย่างที่เราทราบกันดี เช่น ผมร่วง ที่สำคัญผู้ป่วยบางคนที่ป่วยเป็นมะเร็งแล้วมีการกลายพันธุ์ของ TP53 ( TP53 เป็นชื่อยีนที่คอยปกป้องมะเร็ง ) อาจไม่ตอบสนองการรักษาแบบหนึ่งแบบใด เพราะจะทำให้เกิดมะเร็งชนิดที่ 2 หรือเสียชีวิต ดังนั้นจึงต้องตรวจ TP53 เพื่อวางแผนการรักษาทางเลือกต่อไป
ด้าน นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคม เซลล์บำบัดไทย อธิบายถึงการรักษาทางเลือกของผู้ป่วยมะเร็งว่า ปกติเวลาแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งจะใช้วิธีการรักษาตามมาตรฐานที่มีคือการฉายแสงกับเคมีบำบัด แต่จะมีเปอร์เซ็นของผู้ป่วยที่รักษาแล้วเสียชีวิตภายหลังตามมาเสมอ เพราะผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มที่มีการกลายพันธุ์ของ TP53 ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการรักษาแบบทางเลือก เช่น เลือกทานอาหารที่มะเร็งกินไม่ได้ เช่น น้ำมันมะพร้าว การฉัดวัคซีนรักษามะเร็ง ซึ่งทำจากโปรตีนที่อยู่บนเซลล์มะเร็ง ทำให้ร่างกายคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลาย
การรักษาทางเลือกอีกอย่างที่ฮือฮามากในต่างประเทศ คือ สารสกัดจากกัญชา ที่ทำหน้าที่เหมือน TP53 แต่ในประเทศไทยตามกฎหมายยังเป็นยาเสพติดอยู่ ซึ่งขณะนี้มีผลงานวิจัยรองรับแล้วว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถรักษามะเร็งได้จริง โดยในรัฐโคโคราโด ประเทศอเมริกา มีการถอนออกจากบัญชียาเสพติด และมีการเปิดศูนย์รักษาอย่างเป็นทางการแล้ว รวมถึงประเทศแคนนาดาและประเทศอื่นๆ กำลังดำเนินการเช่นกัน
จึงอยากให้ไทยดำเนินการถอนกัญชาออกจากยาเสพติดเร็ว ๆ เพราะเรามีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งด้วยกัญชา ผู้เชี่ยวชาญด้านสายพันธุ์ของกัญชาว่าสายพันธุ์ไหนใช้รักษามะเร็งชนิดใด ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่ว่าใครป่วยเป็นมะเร็งแล้วจะต้องกินกัญชา แต่มันเป็นอีกทางเลือกของประชาชนที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีมาตรฐาน ซึ่งการกินกัญชาก็ไม่ได้มีผลเสียต่อสุขภาพ และไม่เคยมีข้อมูลว่าคนที่กินกัญชาหรือสูบกัญชาเกินขนาดแล้วเสียชีวิต แต่มีผลเสียคือจะติดกัญชา และนั่งยิ้มหรือนอนหลับทั้งวัน.
ที่มา เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2559 เวลา 15.06 น.