เด็กพิเศษเรียนร่วมโรงเรียนปกติได้เพิ่มค่ารายหัว เล็งแยกค่าสาธารณูปโภคโรงเรียนออกจากหมวดค่าจัดการเรียนการสอน เพราะที่ผ่านมาเป็นค่าน้ำค่าไฟกว่า 60% พร้อมสั่งสำรวจเด็กยากจนใหม่ ไม่เชื่อเด็ก สพฐ. 50% ยากจน
วันนี้ (1 ก.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือ เรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และผู้อำนวยการโรงเรียน ว่า สพฐ. ได้เสนอข้อมูล ว่ามีรายการใดบ้างที่โรงเรียนต้องเก็บเพิ่มจากผู้ปกครอง ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนสะท้อนว่า งบประมาณรัฐจัดสรรให้โรงเรียนผ่านเงินอุดหนุนรายหัวเด็กยังไม่เพียงพอ ทั้งการบริหารจัดการและการพัฒนาโรงเรียน โดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภคหรือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งบางโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ที่ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทำให้ต้องเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองเพิ่ม และที่ผ่านมาศธ.ไม่ได้แยกหมวดค่าใช้ดังกล่าวออกมา โดยจัดรวมอยู่ในรายการเรียนฟรี 5 รายการ ในหมวดของค่าจัดการเรียนการสอน ซึ่งงบฯในส่วนนี้ ต้องใช้เงินมากถึง 60% ของค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้สพฐ. ไปคำนวณอัตราค่าน้ำ ค่าไฟ ของแต่ละโรงเรียน เพื่อจะดูว่าจะจัดการแยกหมวดค่าน้ำ ค่าไฟ ของโรงเรียนออกมาต่างหากหรือไม่ และควรสนับสนุนอย่างไร
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากที่ประชุมยังได้หารือถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนแก่เด็กพิเศษ เช่นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือ ออทิสติก และเด็กพิการที่เรียนร่วมกับเด็กปกติ ในโรงเรียนทั่วไป ทำให้เกิดปัญหา เป็นภาระกับโรงเรียน ซึ่งมีประมาณ 2 แสนคนทั่วประเทศ โดยปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้ยังได้รับเงินอุดหนุนเท่ากับเด็กปกติ ขณะที่หากเด็กไปเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีอยู่ 48 แห่งทั่วประเทศ จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัว 6,000 บาทต่อคนต่อปี มากเด็กปกติที่ได้รับอยู่ประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้นที่ประชุม จึงให้สพฐ. ไปคำนวณและจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มให้แก่เด็กพิเศษที่เรียนอยู่ในโรเรียนปกติ ในอัตราเดียวกับเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ พร้อมทั้งมอบให้สพฐ. ไปทบทวนระบบคัดกรอง เด็กยากจน ที่ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี ใหม่ เนื่องจากที่ที่ผ่านสพฐ.รับข้อมูลเด็กยากจนจากทางโรงเรียน ที่แจ้งมาว่า มีเด็กกลุ่มนี้สูงถึง 4 ล้านคน จากนักเรียนในสังกัดสพฐ. ที่มีทั้งหมดกว่า 8 ล้านคน ทำให้เข้าใจว่าเงินตรงนี้ถูกนำไปใช้กับเด็กที่มีฐานะดีด้วย
“อีกหมวดที่รัฐควรจัดสรรงบฯให้โรงเรียน คือ เงินอุดหนุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เช่น การจัดกิจกรรมตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อาทิ ค่าทัศนศึกษา การยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งโรงเรียนต้องจ้างครูต่างประเทศ ค่าจ้างครูและบุคลากรเพิ่มเติม ซึ่งผมให้สพฐ.ไปเกลี่ยอัตราจ้างที่มีอยู่กว่า 10,000 อัตรา รวมถึงเกลี่ยครู ที่บางโรงเรียนมีครูเกิน ขณะที่บางโรงเรียนมีครูขาด โดยการเกลี่ยครูจะให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)มาช่วยดู เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครูและลดอัตราจ้างของโรงเรียน ทั้งนี้ ในส่วนของ ค่าจ้างครูต่างประเทศ ผมอาจจะเสนอต่อขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มในหมวด 6 ซึ่ง เมื่อศธ. เข้ามาดูแลในเรื่องนี้แล้ว ผมหวังว่าต่อไปจะส่งผลให้ต่อไปการเก็บเงินบำรุงการศึกษาจากผู้ปกครองเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และต้องลดลงจากเดิม ขณะที่ โรเรียนขนาดเล็กก็สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่เด็กได้ อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครองอีก”พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว.
ที่มา เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2559 เวลา 15.59 น.