ศธ.ชงกระทรวงการคลัง ขอผ่อนผัน 1,221 โรงเรียนตกประเมินคุณภาพภายในและประเมินจากภายนอกได้มีโอกาสกู้กยศ. แม้เป็นความผิดของสถานศึกษาที่ไม่ยอมพัฒนามาตรฐาน แต่กลับเป็นเหมือนการลงโทษเด็กแทน
วันนี้ (30 มิ.ย.) นายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้เสนอเรื่องขอผ่อนผันหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้แก่สถานศึกษา จำนวน 1,221 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์จากหน่วยงานภายนอก และ การประเมินคุณภาพตรวจสอบจากหน่วยงานภายใน ไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้นักเรียนสามารถกู้ยืมได้ในปีการศึกษา 2559 เนื่องจากเกณฑ์การกู้ยืมกยศ.ระบุว่า สถานศึกษาที่ขอยื่นกู้ต้องผ่านการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และประเมินภายในจากหน่วยงานต้นสังกัด ดังนั้นในปีถัดจะให้สถานศึกษาเข้าสู่การประเมินโดยเร็ว และแม้จะเป็นความผิดสถานศึกษาที่พัฒนาไม่ได้ตามมาตรฐานแต่ก็เหมือนเป็นการลงโทษเด็กเกินไป ที่ประชุมจึงขอให้ กยศ.อนุโลมให้เด็กได้กู้ในปีนี้ไปก่อน
รองปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 4 ล้านบาทให้แก่เขตพื้นที่การศึกษา ออกไปตรวจสอบการกู้ยืมเงินของสถานศึกษาและติดตามประเมินผล รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้กู้เงินด้วย ซึ่งที่ประชุมมีความห่วงใย เพราะกลุ่มรุ่นพี่บางคนบอกกับรุ่นน้องว่าเมื่อกู้เงินจาก กยศ.แล้วไม่จำเป็นต้องนำมาใช้คืน ขณะเดียวกันยังเร่งรัดให้สถานศึกษาส่งเอกสารการกู้ยืมให้ครบภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันส่งข้อมูลผ่านระบบ E-Studentloan เพื่อให้การโอนเงินค่าครองชีพของผู้กู้เป็นไปตามกำหนด ทั้งนี้ที่ประชุมได้ขอให้เพิ่มข้อความคำว่า "หน่วยงานต้นสังกัด" ลงไปในหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินกยศ.ด้วย เนื่องจากหลักเกณฑ์ปัจจุบันระบุว่า สถานศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี จะต้องผ่านการประเมินภายนอกจากสมศ.และประเมินภายในจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในขณะที่สถานศึกษาบางแห่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของสกอ.
ที่มา เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2559 เวลา 16.36 น.