นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0422.7/ว 257 ลงวันที่ 28 มิ.ย.เรื่อง ประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียน ระบุว่าเนื่องจากสถานศึกษามีรายการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเพิ่มขึ้น ทำให้ประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีสิทธิ จึงยกเลิกประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนเดิม และกำหนดประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาและค่าเล่าเรียนใหม่ โดยปรับเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ข้าราชการ ในสถานศึกษาของราชการและสถานศึกษาของเอกชนใหม่ โดยให้ถือปฏิบัติตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป สำหรับประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาใหม่ที่เบิกได้ต่อปีการศึกษา ในสถานศึกษาของรัฐ มีดังนี้ อนุบาลหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 5,800 บาท ประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 4,000 บาท ม.ต้นหรือเทียบเท่าไม่เกิน 4,800 บาท ม.ปลาย หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า ไม่เกิน 4,800 บาท อนุปริญญาหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 13,700 บาท และปริญญาตรี ไม่เกิน 25,000 บาท
เลขาธิการ กช.กล่าวอีกว่า ขณะที่สถานศึกษาของเอกชน ประเภทสามัญศึกษา แบ่งเป็นสถานศึกษาที่ไม่รับเงินอุดหนุน อนุบาลหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 13,600 บาท ประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 13,200 บาท ม.ต้นหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 15,800 บาท และ ม.ปลายหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 16,200 บาท และสถานศึกษาที่รับเงินอุดหนุน ระดับอนุบาลหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 4,800 บาท ประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 4,200 บาท ม.ต้นหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 3,300 บาท และ ม.ปลายหรือเทียบเท่า ไม่เกิน 3,200 บาท ในส่วนอาชีวศึกษา หลักสูตร ปวช.หรือเทียบเท่า ในสถานศึกษาที่รับเงินอุดหนุนแยกตามสาขาวิชา ได้แก่ คหกรรม หรือคหกรรมศาสตร์ 3,400 บาท พาณิชยกรรม หรือบริหารธุรกิจ 5,100 บาท ศิลปหัตถกรรม หรือศิลปกรรม 3,600 บาท เกษตรกรรม หรือเกษตรศาสตร์ 5,000 บาท ช่างอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรม 7,200 บาท ประมง 5,000 บาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 5,100 บาท และอุตสาหกรรมสิ่งทอ 7,200 บาท จาก 6,370 บาท
นายอดินันท์กล่าวด้วยว่า ส่วนสถานศึกษาที่ไม่รับเงินอุดหนุน คหกรรม หรือคหกรรมศาสตร์ 16,500 บาท พาณิชยกรรม หรือบริหารธุรกิจ 19,900 บาท ศิลปหัตถกรรม หรือศิลปกรรม 20,000 บาท เกษตรกรรม หรือเกษตรศาสตร์ 21,000 บาท ช่างอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรม 24,400 บาท ประมง 21,000 บาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 19,900 บาท และอุตสาหกรรมสิ่งทอ 24,400 บาท สำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง ดังนี้ ช่างอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ทัศนศาสตร์ 30,000 บาท พาณิชยกรรม หรือบริหารธุรกิจ ศิลปหัตถกรรมหรือศิลปกรรม เกษตรกรรม หรือ เกษตรศาสตร์ คหกรรม หรือคหกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 25,000 บาท และหลักสูตรปริญญาตรี ไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งข้าราชการทุกสังกัดเบิกได้ตามเพดานดังกล่าว ในส่วนของครูเอกชนกำลังให้กองทุนสงเคราะห์พิจารณาว่าต้องปรับให้สอดคล้องหรือไม่ เพราะขณะนี้ครูเอกชนกว่า 1 แสนคนสามารถเบิกจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรผ่านกองทุนดังกล่าว ซึ่งกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีอยู่แล้ว.
ที่มา: www.thairath.co.th