นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่ง ในการเสวนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการ ศธ.ในภูมิภาค เรื่อง ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการของ ศธ. ช่วงที่ผ่านมาและข้อเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ศธ. ในภูมิภาค จัดโดยคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน และจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและยุบเลิกคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา แล้วตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ก็เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งมีข้อร้องเรียนมาตลอดว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหารการศึกษา
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลายจังหวัดได้มีการแต่งตั้ง อกศจ. ที่จะเข้ามารับผิดชอบงานด้านวินัย วิทยฐานะ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายเรียบร้อยแล้ว และมีเสียงสะท้อนมาว่าหลายจังหวัดมีรายชื่อของ อ.ก.ค.ศ.เดิม หรือรายชื่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์เข้าไปเป็น อกศจ. ด้วย ซึ่งตนไม่ทราบว่าที่ผ่านมาใครจะเป็นอย่างไร และยอมรับว่าในช่วงแรกการแต่งตั้ง อกศจ.และผู้แทน กศจ. อยากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติก่อน แต่จากนี้ กศจ.ทุกจังหวัดจะต้องดูให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหาเรียกรับผลประโยชน์ขึ้นอีก หากพบว่าใครมีปัญหา ตนในฐานะเลขานุการ คปภ. สามารถเสนอชื่อให้ คปภ. พิจารณาเปลี่ยนตัวได้ทันที โดยไม่ต้องรอเข้าพิจารณาในคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้เข้าใจดีว่าหลายพื้นที่กำลังเกิดความโกลาหลในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย และการพิจารณาโทษทางวินัยที่ยังมีปัญหาค้างอยู่อีกหลายเรื่อง อีกทั้งยังมีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครั้งที่ 1/2559 ที่ได้ชะลอไปก่อน และอยู่ระหว่างพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งตนจะหารือ ก.ค.ศ. ว่า การคัดเลือกครู อาจจะต้องมีการปรับกติกาใหม่ ให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกครูได้เองเพื่อให้ได้ครูที่มีความสามารถตรงกับความต้องการจริงๆ ไม่ใช่เหมือนระบบเดิม ที่ใช้วิธีสอบคัดเลือก ใครสอบได้คะแนนมากจะมีสิทธิเลือกบรรจุก่อน ทำให้เกิดปัญหาว่า ครูส่วนใหญ่ไม่ได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่พอใจ พอเป็นครูผู้ช่วยได้ 2 ปี ก็ขอย้ายกลับภูมิลำเนา ซึ่งตำแหน่งที่ครูขอย้ายไปก็อาจไม่ใช่ตำแหน่งที่โรงเรียนต้องการ เพราะย้ายตามอัตราว่าง
"ผมได้หารือกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ หนังสือพิมพ์มติชนรายวันรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ถึงการปรับกติกาการคัดเลือกครูผู้ช่วยแล้วอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งต้องไปหารือ ก.ค.ศ. ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจากนี้อีก 3 ปี โรงเรียนจะสามารถเข้ามาเลือกครูได้เอง โดยจัดสอบในระบบกลางร่วมกันเช่นเดียวกับการสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้วขึ้นบัญชีไว้เป็นตะกร้า หากโรงเรียนอยากได้ครูสาขาใด ก็มาหยิบเลือก แล้วเรียกตัวมาคุยทำข้อตกลงให้เป็นที่พอใจทั้งครูและสถานศึกษา รวมถึงทำสัญญาให้ชัดเจนว่า ครูจะต้องสอนที่โรงเรียนไม่น้อยกว่า 4-6 ปี ให้ครูได้สอนอยู่ในที่ที่อยากอยู่ มีเวลาฝึกประสบการณ์สอน ไม่ใช่มาเป็นครูผู้ช่วยได้ 2 ปี ก็คิดแต่เรื่องย้าย ผมเชื่อว่าถ้าเราวางระบบให้เป็นแบบนี้ได้ ในระยะยาวคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นแน่นอน รวมถึงจะลดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายได้อีกด้วย" นพ.กำจรกล่าว และว่า ส่วนกติกาการคัดเลือกครูผู้ช่วยใหม่นี้จะใช้ในการคัดเลือกครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2559 หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ต้องหารือ ก.ค.ศ.ก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน และ เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 27 มิถุนายน 2559