"ปลัดศธ."ชี้สอบควรเป็นแค่ส่วนหนึ่ง/ต้องดูโปรไฟล์เด็ก/ยกระดับสัมภาษณ์เข้มข้น
ปลัด ศธ.แนะปรับระบบคัดเลือกคนเข้าอุดมศึกษาใหม่ ชี้ควรใช้การสอบเป็นเพียงส่วนหนึ่ง โดยกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ และให้ดูผลงานการทำกิจกรรม ทัศนคติต่อสังคมควบคู่กันไป และควรยกระดับการสอบสัมภาษณ์ให้มีน้ำหนักมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้คะแนนสอบต่างกันแค่จุดทศนิยมไปตัดโอกาสการได้เรียน และการรับเด็กควรยืดหยุ่น เพิ่มคนได้โดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ในปัจจุบันระบบการคัดเลือกคนเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาเน้นที่การสอบเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคะแนนสอบต่างๆ ที่ว่าขาดเพียงหนึ่งคะแนนจะสามารถเข้าเรียนได้หรือไม่ได้ ดังนั้น ตนจึงมีแนวคิดให้มีการปรับระบบการคัดเลือกคนเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาใหม่ และการสอบคัดเลือกจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะการสอบควรเป็นส่วนประกอบของการสมัครเรียน คือทุกคนมีสิทธิ์สมัครเรียน ไม่ใช่ว่าจะใช้การสอบเป็นตัวชี้วัด ว่าใครมีหรือไม่มีสิทธิ์เรียน และควรยกระดับการสอบสัมภาษณ์ให้สามารถคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อได้ ไม่ใช่เมื่อสัมภาษณ์แล้วจะรับทั้งหมด โดยอาจจะมีการนำบันทึกประจำตัวหรือผลงานของเด็ก หรือการเข้ากิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาของเด็ก ประกอบกับการสัมภาษณ์ รวมถึงต้องมองถึงทัศนคติของเด็กว่าดีต่อสังคมหรือไม่ด้วย
นพ.กำจรกล่าวต่อว่า สำหรับการรับนักศึกษาก็ควรให้สามารถรับได้มากกว่าจำนวนที่กำหนด แต่ไม่ใช่มากถึง 2-3 เท่าของจำนวนที่กำหนดไว้ เช่น คณะหรือสาขาที่มีการแข่งขันสูง จะกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำเพื่อให้ผู้ที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์สามารถเรียนได้ และหากเปิดรับสมัคร 50 คน แต่มีผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 60 คน ก็ควรจะรับทั้งหมด หรือรับเท่าที่มหาวิทยาลัยจะรับไหว ซึ่งต้องดูปริมาณอาจารย์ผู้สอนที่เหมาะสมด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาการวัดกันที่คะแนน ตัดสิทธิ์ที่จุดทศนิยม อีกทั้งจะทำให้ผู้ที่ต้องการเรียนและมีความสามารถจริงๆ ได้เข้าเรียนด้วย เพราะการศึกษาต้องการคนที่เรียนได้ ไม่ใช่คนเรียนเก่ง แน่นอนว่าจะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานควบคู่กัน เพื่อจะเป็นการคัดคนอีกช่องทางหนึ่ง คือหากมีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 60 คน จะต้องมีผู้ที่เรียนไม่ไหวและต้องออกเพื่อไปเรียนในสาขาอื่น ซึ่งดูเหมือนว่าจะสิ้นเปลือง แต่ในปัจจุบันก็มีเด็กที่เรียนไม่ไหวในสาขาที่ตัวเองเลือกจนต้องออกกลางคันอยู่จำนวนมาก
"นี่เป็นเพียงหลักการเท่านั้น หากมีดำเนินการในรูปแบบนี้ เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ว่าจะมีข้อสอบผิดกี่ข้อ จะส่งผลต่อเด็กจำนวนเท่าไร เพราะผมคิดว่าข้อสอบโอเน็ตควรใช้วัดระดับเพื่อประเมินมาตรฐานโรงเรียนว่าผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ หรือต่างจากโรงเรียนอื่นมากน้อยเพียงใด ไม่เหมาะสมกับการใช้วัดความเก่ง-ไม่เก่งส่วนบุคคล เพราะหากยังใช้วิธีการสอบ และวัดออกมาเป็นคะแนนว่าจะได้เข้าศึกษาต่อหรือไม่นั้น จะทำให้เด็กมุ่งแต่จะเรียนเพื่อสอบแข่งขัน มุ่งกวดวิชาให้รู้แนวทางข้อสอบ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เป็นการเรียนที่ไม่ได้เรียนเพื่อรู้ และจะทำให้ไม่ได้ความรู้ที่เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม หากจะทำจริงๆ เรื่องนี้คงต้องใช้ระยะเวลาศึกษาอย่างละเอียด ไม่ใช่จะเริ่มวันนี้ พรุ่งนี้ และต้องมีการบอกกติกาเพื่อให้เด็กได้มีการเตรียมตัวก่อนด้วย" ปลัด ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 27 มิถุนายน 2559