“สรนิต”เผยประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ตั้งคณะกรรมรับอุทธรณ์และร้องทุกข์ เพิ่มที่พึ่งให้ข้าราชการมหา’ลัย
วันนี้(23 มิ.ย.) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันจึงต้องมีการแก้ไขเพิ่ม โดยประเด็นสำคัญตั้งคณะกรรมพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์ (ก.อ.ร.) โดย ก.อ.ร. มีอำนาจหน้าที่คือการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ และพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ รวมถึงออกข้อบังคับเกี่ยวกับการอุทธรณ์และร้องทุกข์
รองเลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อไปว่า ก.อ.ร. จะเข้ามาช่วยดูแลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษากรณีที่ เห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจ เนื่องจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ยกเว้นกรณีการสั่งลงโทษ หรือการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ให้ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ต่อสภาสถาบันอุดมศึกษาภายใน30วัน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งถึงการกระทำหรือได้รับคำสั่ง และให้สภาสถาบันพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน90 วัน โดยจะต้องมีการกำหนดหลักประกันความเป็นธรรมเพื่อคุ้มครองผู้ร้องทุกข์ มิให้ถูกกลั่นแกล้ง หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการร้องทุกข์ ทั้งนี้กรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจผลการวินิจฉัยของสภาสถาบันฯ หรือกรณีที่สภาสถาบันฯ มิได้พิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จตามกำหนด ให้มีสิทธิ์เสนอเรื่องร้องทุกข์ต่อก.อ.ร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัย หรือวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการวินิจฉัย และกรณีที่ผู้ร้องไม่พอใจการวินิจฉัยของก.อ.ร.ให้มีสิทธิฟ้องศาลปกครองได้
“นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขถ้อยคำให้สอดคล้องกับระบบการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จากคำว่า “เลื่อนขั้นเงินเดือน” เป็น “เลื่อนเงินเดือน” และแก้ไขคำว่า “ลดขั้นเงินเดือน”เ ป็น “ลดเงินเดือน” อย่างไรก็ตามการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน สามารถเข้าไปดูแลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ได้ใกล้ชิดมากขึ้น และเป็นที่พึ่งให้แก่ข้าราชการมหาวิทยาลัยที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสภามหาวิทยาลัย”รศ.นพ.สรนิต กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2559 เวลา 17.02 น.