“การุณ” เผยปัญหาเด็กติดเกมเป็นเรื่องใหญ่นำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต เล็งหารือ สอศ.ใช้ ม.44 ดูแลความประพฤติเด็กตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน พร้อมทำคู่มือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง
วันนี้(23 มิ.ย.)นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามาตรา44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ออกคำสั่ง เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษานั้น คำสั่งดังกล่าว ครอบคลุมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่อยู่ในสถานศึกษาทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา โดยนอกจากจะป้องกันปัญหาทะเลาะวิวาทแล้ว ยังดูแลเรื่องความประพฤติของนักเรียน นักศึกษาทุกเรื่อง ซึ่งนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ ปัญหาเด็กติดเกม และอาจนำไปสู่การมั่วสุม ยาเสพติดและความรุนแรง ซึ่งสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ทำให้มีเครื่องมือในการดูแลเด็ก ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำหน้าที่ได้อย่างมั่นใจด้วย
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับนักเรียนในสังกัด สพฐ.ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรงในโรงเรียน พฤติกรรมไม่เหมาะสม และอื่น ๆ จะมีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน(ฉก.ชน.) เป็นผู้ดูแลในภาพรวม ขณะเดียวกันจะมีการประสานงานร่วมกับ ศูนย์เสมารักษ์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการดูแลนักเรียนอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้การดูแลนักเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามคำสั่งหัวหน้าคสช. เร็ว ๆ นี้ตนจะหารือร่วมกับ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ และจัดทำเป็นคู่มือ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง
“ปัญหาเด็กติดเกม มั่วสุมในร้านเกมเป็นปัญหาใหญ่ของ สพฐ.ในขณะนี้ ดังนั้นเมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ครอบคลุม ในเรื่องของการดูแลความประพฤตินักเรียนด้วย สพฐ.ก็จะนำกฎหมายนี้มาวิเคราะห์ ว่า จะใช้ในการดูแลความประพฤตินักเรียน นอกเหนือจากการก่อเหตุทะเลาะวิวาทได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็จะต้องทำคู่มือและแนวทางปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน”นายการุณกล่าว
ที่มา เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2559 เวลา 14.16 น.