เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดงานเสวนาวิชาการ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต ในงานนี้ เราได้ฟัง นพ.ธีระเกียรติเจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บัณฑิตศึกษากับการพัฒนาประเทศสู่อนาคต” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างมากทีเดียว
จากเนื้อหาในการพูดทั้งหมด มีหลายช่วงตอนที่ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความสำคัญของ “บัณฑิตศึกษา” โดยเฉพาะระดับปริญญาเอก ว่า บัณฑิต ในระดับนี้ ควรเป็น Research Degree คือ ควรเป็นผู้ชำนาญการในการทำวิจัยที่เชี่ยวชาญ และคิดในเรื่องที่ไม่มีคนคิด เพราะคุณค่าของทรัพยากรบุคคลในระดับนี้ จะมีผลกับการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างสูง ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจึงต้องตั้งความคาดหวังในการผลิต และพัฒนาการศึกษาตามบริบทของตนเอง ไม่จำเป็นต้องจัดการศึกษาเหมือนกันหมด ทุกมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องเป็นแบบจุฬาฯ ส่วนจุฬาฯ ก็ไม่ต้องเป็นแบบ MIT แต่ทุกสถาบันควรกำหนดความคาดหวังและมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ได้ พร้อมทั้งจัดระบบตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างมีคุณภาพจริงๆ โดยสถาบันแต่ละแห่งควรเป็นผู้กำหนดคุณภาพเอง และให้หน่วยงานต่างๆ ภายนอกเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนการประเมินผลภายหลังการดำเนินงานมิใช่ให้ สมศ. หรือ สกอ.มาเป็นผู้กำหนดและตรวจสอบการดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนการเปิดหลักสูตรครู เห็นว่าไม่ควรนำนักการศึกษามาสอนครู เพราะครูไม่ใช่นักการศึกษาบางคนจบปริญญาเอกด้านประเมินผล แต่ทั้งชีวิตไม่เคยเป็นครูเลยทำให้มีหลักสูตรในสาขาวิชาที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก และเห็นด้วยว่าการศึกษาระดับปริญญาเอก ไม่ควรมีการเรียนนอกเวลา
แนวคิดจากการพูดของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “นี่คือส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่ต้องทำ” ซึ่งมีอยู่ในจิตวิญญาณของ นักการศึกษาทุกคน ทั้งที่เป็นผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน แต่ไม่ผู้ใดนำออกมาใช้ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ ไม่อยากเหนื่อย หรือขัดกับผลประโยชน์ของตัวเอง ก็ยากที่จะคาดเดาได้
สำหรับในเรื่องการสร้างมนุษย์ในสังคมให้ กลายร่างจาก คนธรรมดา เป็น ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ต้องการให้สถานศึกษาทุกสังกัด สร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ กล่าวคือ ควรมีทั้งเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ คุณธรรม หรือหมายถึงการเป็นคนดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องการให้สถาบันการศึกษาสร้างคนดีให้บ้านเมืองมากๆ คำว่า“ความดี หรือ Goodness” แปลว่า “คุณธรรมพร้อมกับคุณประโยชน์” การที่คนจะมีประโยชน์ได้ต้องมีวิทยาการมีความรู้ ดั่งเช่นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ได้มีการยกตัวอย่างเพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ว่า ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอินเดีย ที่ตนได้ไปดูงานเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าได้มีการพัฒนารูปแบบสัดส่วนการเรียนการสอนมาเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว โดยมีสัดส่วนเวลาเรียนด้านวิชาการ 60% วัฒนธรรม 10% อารมณ์ 10% การบริการ10% และพลศึกษา 10% และได้บูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรมในระดับสูง โดยเน้นการวิจัยและมีความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม มีความเชื่อมโยงงานวิจัยกับนักศึกษาด้วย
และที่ควรจะเน้นเสียงให้หนักแน่นที่สุดที่จะทำให้คนฟังทั้งห้องต้องปรบมือกันสนั่นไหวคือ คำพูดที่ กล่าวว่า ที่มหาวิทยาลัยของอินเดียแห่งนี้ สิ่งที่สำคัญคือให้เรียนฟรี จึงมีผลทำให้อัตราการแข่งขันสูง ไร้ระบบอุปถัมภ์ในการฝากเข้าเรียน เขามีอำนาจในการกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นทั้งด้านสติปัญญาและความมีคุณธรรมในระดับสูง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม โดยนักศึกษาทุกคนต้องมีส่วนร่วมกิจกรรมรับใช้ชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สนับสนุนอาหาร การซ่อมแซมบ้านเรือน ดังเช่นอาชีวะอาสาของไทย และจากการที่ได้พบเห็นมาตนจึงมีแรงบันดาลใจที่จะตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบเดียวกับอินเดียในประเทศไทย เพื่อผลิตผู้นำที่ดีให้กับประเทศ และเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สามารถนำแนวคิดของมหาวิทยาลัยในอินเดียไปปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมได้
และทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งของ ผู้บริหารประเทศในขณะนี้ควรทำเป็นที่สุดจากอำนาจในการปกครองที่ท่านมีอยู่ในเวลานี้ เพราะหากไม่ใช่ท่านแล้ว ก็คงมองไม่เห็นว่า อนาคตจะมีผู้ปกครองประเทศคนใดกล้าที่จะออกมาปฏิรูปบ้านเมืองได้เช่นทุกวันนี้
ที่มา: http://www.naewna.com และเว็บไซต์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ