20 มิ.ย. 59 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) และผู้บริหาร สสวท. ได้มานำเสนอผลการดำเนินงาน พร้อมเสนอผลคะแนน การประเมินผลนานาชาติ หรือ PISA พบจุดอ่อนในวิชาวิทย์ศาสตร์ และวิชาคณิตศาสตร์ จึงได้หารือกันว่าจะต้องพัฒนาครูทั้งสองวิชาและนักเรียน ซึ่งเห็นตรงกันว่าวิชาภาษาไทย มีผลเชื่อมโยงต่อการเรียนในทุกวิชา ดังนั้น หากนักเรียนอ่านภาษาไทยได้และสามารถวิเคราะห์เนื้อหาเป็น นักเรียนก็จะเรียนวิชาอื่นเข้าใจด้วย จึงให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตรวจสอบว่าการเรียนวิชาภาษาไทยในระดับประถมต้น(ป.1-3) เรียนภาษาไทยวันละกี่ชั่วโมง และให้สพฐ.พิจารณาปรับเพิ่มวิชาภาษาไทย เนื่องจากวิชาภาษาไทยนำมาซึ่งวิชาอื่น ที่สำคัญต้องการให้เด็กอ่านวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าใจมากขึ้น
"เห็นอยู่แล้วว่าวิชาวิทย์ คณิต คะแนนพิซ่าออกมาต่ำ และถึงแม้วิชาภาษาไทยจะไม่มีในการประเมินพิซ่า แต่วิชาภาษาไทยก็เกี่ยวโยงกับวิชาอื่น ๆเราจึงทิ้งวิชาภาษาไทยไม่ได้ เพราะถ้าเด็กอ่านออกและมีความเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านและจับประเด็นได้ การไปเรียนวิชาอื่นก็ง่ายขึ้น ผมจึงให้สพฐ.ไปดูว่าในระดับประถมต้นในวิชาภาษาไทยสอนการอ่านจับประเด็นหรือไม่ หรือว่าว่าสอนแบบนกแก้นกขุนทอง หากเป็นแบบนกแก้วนกขุนทองครูก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนโดยหันมาสอนให้เด็กอ่านแล้วจับประเด็นเป็น ไม่เช่นนั้นจะไม่ตอบโจทย์" รมว.ศธ. กล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น สสวท.มีมาตรฐานของครูสอนวิชาวิทย์ คณิตในแต่ละระดับชั้นอยู่แล้ว แต่มีครูบางส่วนเท่านั้นที่เข้าถึงมาตรฐานของสสวท. ดังนั้น จะต้องทำให้ครูทุกคนทราบถึงมาตรฐาน โดยเริ่มจากครูทั้งสองวิชา ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อน โดยได้มอบให้ สสวท.ทำมาตรฐานของเนื้อหาของวิชาวิทย์ และคณิตฯ เพื่อมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) นำไปเผยแพร่ทางออนไลน์ (ทีอีพีอี)
"ให้ครูได้ใช้พัฒนาการสอนของตนเอง และในช่วงปิดเทอม หรือปีหน้าจะมีการทดสอบครู เพื่อให้ทราบว่าหลังจากที่ให้เวลาครูไปทดลองสอนตามมาตรฐานแล้วได้พัฒนาตนเองไปมากน้อยเพียงใด และมีความเข้าใจมาตรฐานการสอนในวิชาวิทย์ คณิตฯหรือไม่ จะได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของครู หากพบว่าครูกลุ่มใดยังมีจุดอ่อนอยู่ สสวท.ก็จะติวความรู้เพิ่มเติมให้ ซึ่งการทดสอบจะไม่มีผลกับการปรับย้าย หรือการลงโทษ แต่ต้องการพัฒนาครูให้ตรงตามเป้าหมาย" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ สพฐ.นำมาตรฐานของ สสวท.ไปเผยแพร่ให้ครูได้รับทราบก่อน โดยเริ่มจากครูวิชาวิทย์ และคณิตฯที่สอนในระดับชั้น ม.3 ก่อน ที่ผ่านมาความเชื่อมโยงระหว่างสสวท.กับ สพฐ.มีน้อยเกินไป ดังนั้น จะต้องให้สองหน่วยงานนี้หลอมรวมกันมากขึ้น ซึ่งการจะทำให้คะแนนใดๆ ดีขึ้น ก่อนอื่นจะต้องหาเป้าให้เจอแล้วพัฒนาให้ตรงจุด ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบหว่านแห จึงแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด แต่สิ่งที่จะทำกับสสวท.นี้เห็นทิศทางแล้วซึ่งน่าจะดีขึ้น พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559, 15.48 น.