รวมกันได้กว่าครึ่งหมื่นสาขาวิชา/สกอ.เผยผ่านประกันคุณภาพ"ขั้นต่ำ"เพียง2ใน3
ตะลึง สกอ.เปิดคลังหลักสูตรบัณฑิตศึกษาของไทย พบมีมากถึง 6,687 หลักสูตร ปริญญาโทมากสุด 4,666 หลักสูตร รองลงมาปริญญาเอก 1,652 หลักสูตร ส่วนปริญญาตรีมีเพียง 448 หลักสูตร "รองเลขาฯ กกอ." เผยมีเพียง 2 ใน 3 ที่ผ่านการประกันคุณภาพขั้นต่ำของ สกอ. ชี้หลักสูตร ป.โท-เอกที่เปิดต่อไปต้องตอบโจทย์ของประเทศ ไม่ใช่ทำในเชิงพาณิชย์
ในการเสวนาเรื่อง "หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต" เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี จุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ด้าน นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาฯ กกอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรบัณฑิตศึกษาของประเทศไทยมีอยู่ 6,687 หลักสูตร แบ่งเป็นปริญญาเอก 1,652 หลักสูตร ปริญญาโท 4,666 หลักสูตร ปริญญาบัณฑิตชั้นสูง 121 หลักสูตร ปริญญาบัณฑิต 448 หลักสูตร ซึ่งถือว่ามาก และในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทั้งหมดผ่านการประกันคุณภาพขั้นต่ำของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพียง 2 ใน 3 เท่านั้น และแผนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ได้มีการกำหนดหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา 3 ด้านคือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เปิดโอกาสในประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่คำนึงถึงฐานะหรือพื้นที่ 2.มหาวิทยาลัยจะผลิตคนที่ดีให้สังคม เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณธรรม ความรู้ความสามารถ 3.มหาวิทยาลัยต้องสร้างนวัตกรรมหรือองค์ความรู้แก่สังคมไทย โดยเฉพาะระดับปริญญาโทและเอกจะต้องสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้
"ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องปรับทัศนคติให้ดีก่อนว่าจะเน้นเรื่องอะไร เด่นด้านไหน ไม่ใช่จัดการศึกษาเชิงพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยต้องมีจุดเน้นเลือกสาขาที่ชำนาญมาเป็นจุดเด่นการผลิต ไม่จำเป็นต้องมีทุกสาขา รวมถึงบูรณาการศาสตร์ต่างๆ และปรับองค์กรให้สอดคล้อง รองรับจุดเน้นของมหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยไม่สามารถจะผูกขาดความรู้ด้านใดด้านหนึ่งได้ มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนตัวเอง ทำหน้าที่จัดการความรู้ หรือแบ่งปันความรู้ในสังคม ซึ่งสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำมากที่สุดคือทำอย่างไรถึงจะเป็น life long learning ของประชาชนให้ได้" รองเลขาฯ กกอ.กล่าว
นพ.สรนิตกล่าวอีกว่า อนาคตตนเชื่อว่าบทบาทของ สกอ.ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยพร้อมกับเป็นผู้ควบคุม แต่จะไม่ควบคุมในรูปแบบเดียวกันหมด เช่น มหาวิทยาลัยไหนที่มีความเสี่ยงสูง สกอ.จะเข้าไปดูอย่างละเอียด ตั้งคณะกรรมการลงไปติดตาม แต่มหาวิทยาลัยที่มีประวัติดีหรือสามารถเข้าระบบสากลได้ ก็ถือว่าสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ สกอ.จะทำหน้าที่เพียงสังเกตการณ์เท่านั้น เป็นต้น
ด้านนายพฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทิศทางของหลักสูตรอุดมศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในอนาคตนั้น เราต้องมองให้ลึกในความเป็นบัณฑิตหรือมหาบัณฑิต ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง และการสร้างหลักสูตรใหม่ต้องตอบโจทย์กับแนวความคิดใหม่ และคำนึงถึงทิศทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบัน ต้องทำให้เห็นภาพของวิกฤติอย่างชัดเจน นำพาประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ดังนั้นหลักสูตรจะต้องมีสิ่งที่เป็นเชิงรุกที่ชัดเจน เช่น เป็นหลักสูตรชั้นแนวหน้าของโลก สร้างบัณฑิตให้มีความคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เป็นต้น รวมถึงปรัชญาหลักสูตร ต้องเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยจะต้องสามารถสร้างนวัตกรรมให้ประเทศ.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 20 มิถุนายน 2559
http://www.thaipost.net/?q=หลักสูตรปริญญาโท-เอกไทยสุดเฟ้อ