คอลัมน์: การศึกษา: ถึงเวลา'ยกเครื่อง' สทศ. เรียกศรัทธา...ระบบทดสอบชาติ!!
ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาความเชื่อมั่นที่มีต่อสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) มีน้อยมาก
สทศ. มีปัญหามากมายนับตั้งแต่ปีแรกที่จัดตั้งจนถึงวันนี้ปัญหาก็ยังคงวนเวียนอยู่เรื่องเดิมๆ
ที่ผ่านมา สทศ. มักถูกวิจารณ์เรื่องข้อสอบไม่ได้มาตรฐาน คำถามกำกวม เฉลยผิด คำตอบมีมากกว่า 1 ข้อ ข้อสอบยากเกินมาตรฐานเนื้อหาหลักสูตรจนบางวิชาเด็กสอบตกเกือบยกประเทศ
สังคมขาดความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานข้อสอบ จนเกิดการเรียกร้องให้ยกเลิกการนำผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติพื้นฐาน (โอเน็ต) มาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (แอดมิสชั่นส์)
หนักข้อกว่านั้นถึงขั้นเรียกร้องให้ยุบ สทศ.!!
มาปีนี้กระแสเรียกร้องให้ยุบ สทศ. กลับมากระหึ่มในโลกโซเชียลอีกครั้ง พร้อมด้วยการเชิญชวนให้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์กลงชื่อเรียกร้องให้ประมวลผลแอดมิสชั่นส์ใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ change.org...
ความไม่มีมาตรฐานของข้อสอบ สทศ. ที่ผ่านมาประกอบด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน ข้อหนึ่งที่ถูกโจมตีอย่างหนัก คือการดึงอาจารย์โรงเรียนสาธิตสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาออกข้อสอบ ทำให้เกิดปัญหาข้อสอบยาก มีการออกข้อสอบเกินเนื้อหาหลักสูตรและไม่สะท้อนการเรียนการสอนในชั้นเรียนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ที่เข้าสอบ รัฐบาลก่อนๆ จึงพยายามแก้ไขปัญหาโดยมอบหมายให้ สทศ. ดึงครูโรงเรียนสังกัด สพฐ. มาร่วมออกข้อสอบ เพื่อให้ข้อสอบสอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตร
รัฐบาลทุกยุคที่ผ่านมาไม่กล้าสั่งการให้ สทศ. เผยแพร่ข้อสอบพร้อมด้วยเฉลยคำตอบต่อสาธารณะเพราะเกรงปัญหาเรื่องประท้วงไม่จบไม่สิ้น รวมถึงการฟ้องร้องเป็นคดีความจากพ่อแม่ผู้ปกครองถ้าความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดของ สทศ. นำไปสู่ผลกระทบของบุตรหลานของตัวเอง ที่ผ่านมาจึงใช้วิธีให้เด็กที่สงสัยคะแนน ไปดูกระดาษคำตอบเป็นรายบุคคลที่ สทศ. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทราบดีถึงวิกฤต"ศรัทธาที่สังคมมีต่อ สทศ. ที่ผ่านมาจึงแก้ไขปัญหาโดยสั่งการให้ สทศ. นำข้อสอบพร้อมด้วยเฉลยคำตอบทั้งหมดเผยแพร่บนเว็บไซต์ สทศ. เพื่อให้สาธารณะ นักวิชาการตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ช่วยกันตรวจทาน วิพากษ์วิจารณ์ อันนำไปสู่การปรับปรุงระบบการทำงานของ สทศ. ในอนาคตโดยประเดิมปีนี้เป็นปีแรก
เรียกว่ากล้าตัดสินใจ เด็ดขาด ทั้งที่รู้ดีว่าสุ่มเสี่ยงนำมาสู่ปัญหามากมาย...
ขณะนี้ผลกระทบกำลังตามมาเป็นลูกโซ่จากการเผยแพร่ข้อสอบพร้อมด้วยเฉลยคำตอบ เมื่อเหล่านักวิชาการ ติวเตอร์ตลอดจนอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ต่างออกมาสับเละถึงข้อสอบที่ผิดพลาดของ สทศ. นำโดย นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ออกมาชี้ว่าข้อสอบโอเน็ต ม.6 วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีผิดพลาด 2 ข้อ คือ ข้อ 63 และข้อ 88 และเมื่อมาตรวจทานภายหลังพบว่าผิดเพิ่มมากกว่านั้นอีกหลายข้อ
ขณะเดียวกัน มีนักวิชาการโจมตีอย่างหนักกับตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ว่าอาจมีเนื้อหาไม่ถูกต้อง ไม่ได้มาตรฐาน เดือดร้อนถึง สพฐ. ต้องตรวจทานเนื้อหาในตำราเรียน พบว่าตำราที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์เอกชนจัดพิมพ์นั้น มีเนื้อหาถูกต้อง โดยเฉพาะโอเน็ต ม.6 วิชาสังคมฯ ข้อ 63 ที่ถามว่าสนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับชาติตะวันตก คือสนธิสัญญาอะไรนั้น สพฐ. ยืนยันคำตอบตรงกับนักวิชาการว่าคือสนธิสัญญาเบอร์นีย์ ซึ่งต่างจากคำเฉลยของ สทศ. ที่ยืนกรานว่า คือ สนธิสัญญาเบาว์ริง
ตามมาด้วย อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ หรือ "อ.ปิง ดาว้องก์" ติวเตอร์วิชาสังคมชื่อดัง ออกมาขย่มซ้ำด้วยการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กระบุถึงข้อสอบโอเน็ต ม.6 วิชาสังคมฯ ผิดพลาดอย่างน้อย 5 ข้อ คือ 58, 63, 72, 80 และ 85 และคำถามและคำตอบกำกวมอีกหลายข้อ พร้อมด้วยการงัดหนังสือเรียนที่ สพฐ. อนุมัติให้สำนักพิมพ์เอกชนจัดพิมพ์มาเป็นหลักฐานประกอบ ตอกย้ำว่าการออกข้อสอบของ สทศ. มีทั้งเฉลยผิดพลาด คำถามกำกวม คำตอบตอบได้มากกว่า 1 ข้อ
วิกฤตศรัทธาถูกขย่มซ้ำเมื่อเวลาไล่ๆ กัน แอนดรูว์ บิ๊กส์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์คลิปโดยตั้งข้อสงสัยว่าโอเน็ต ม.3 วิชาภาษาอังกฤษ ก็มีเฉลยผิดถึง 4 ข้อ จากทั้งหมด 50 ข้อ
พล.อ.ดาว์พงษ์ เลยสั่งให้ สทศ. ตรวจข้อสอบพร้อมด้วยเฉลยข้อสอบโอเน็ตใหม่ทั้งระบบ ส่วนว่าจะนำไปสู่การประมวลผลแอดมิสชั่นส์ใหม่หรือไม่นั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังไม่กล้าให้คำ ตอบ บอกว่าขอรอดูผลตรวจสอบก่อน
"เพื่อไม่ให้สังคมคลางแคลงใจ จึงได้ติดต่อ นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ขอให้ตรวจสอบข้อสอบและเฉลยคำตอบใหม่ทั้งหมด รวมถึงข้อสอบโอเน็ต ม.6 วิชาสังคมฯ ที่ติวเตอร์ทักท้วงด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจให้สังคม และหากมีข้อผิดพลาด ก็ต้องยอมรับผิดและแก้ไข"
อย่างไรก็ตาม ผลการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน สทศ. ก็ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวว่าข้อสอบโอเน็ต ม.6 ไม่มีข้อใดผิดเพิ่ม ผิดแค่ข้อเดียวคือ ข้อ 88 ซึ่งได้มีการประมวลผลคะแนนใหม่ไปแล้วก่อนส่งให้สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ประกาศผลแอดมิสชั่นส์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา
พร้อมแจกแจงกระบวนการออกข้อสอบ กลั่นกรองและคัดเลือกข้อสอบ ดำเนินการอย่างรัดกุม รอบคอบ เชื่อมั่นได้
สอดรับกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ ที่อยากจบปัญหานี้ตั้งแต่ต้น โดยระบุว่า "เมื่อ สทศ. ยืนยันว่าไม่ผิดเพิ่มอีก เราก็ต้องเชื่อ สทศ. เพราะเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องการทดสอบ เราต้องให้เครดิต" ทั้งย้ำว่าถ้าจะโทษ ก็ต้องโทษตนเพราะเป็นคนสั่งให้เปิดเผยข้อสอบพร้อมด้วยเฉลยคำตอบ
แม้ สทศ. จะยืนยันความถูกต้อง แต่ด้วยเหตุที่ไม่ได้งัดหลักฐานประกอบและไม่ได้อธิบายรายละเอียดคำตอบแต่ละข้อ เลยไม่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสังคมมากนัก บางคนถึงกับโต้ว่า เมื่อ สทศ. ยืนยันความถูกต้องของเฉลยคำตอบ ก็เท่ากับว่าหนังสือเรียนของ สพฐ. ผิด!! นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักวิชาการคนแรกๆ ที่ออกมาติงข้อสอบโอเน็ต ระบุว่า ได้ยินข่าวทุกปีว่าข้อสอบผิดพลาด ซึ่ง สทศ. ก็คงไม่นิ่งนอนใจ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ ความผิดพลาดส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรและกระทบต่อองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เพราะทำให้สังคมสับสนว่าระหว่างความรู้ของ สพฐ. กับ สทศ. อย่างไหนจะถูกต้องกว่ากัน ทางแก้คือถ้าคิดว่าผิดข้อเดียว ก็ต้องอธิบายให้สังคมคลายสงสัย ถ้าผิดก็ต้องแสดงสปิริตรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตย่อมมีโอกาส สทศ. ควรพิจารณากรรมการออกข้อสอบชุดปัจจุบัน ให้โอกาสหรือเปลี่ยน ก็เป็นอีกเรื่อง แต่คงต้องมีกรรมการอีกชุดมาตรวจสอบข้อสอบซ้ำก่อนให้นักเรียนสอบจริง อาจจะเป็นกรรมการจาก สพฐ. เพื่อตรวจสอบให้ข้อสอบกับเนื้อหาในแบบเรียนตรงกัน ที่สำคัญคือ เราอาจต้องมาตั้งคำถามว่าจะให้นักเรียนเรียนประวัติศาสตร์เพื่อจำไปสอบ หรือเป็นพลเมืองที่คิดเป็น
ความจำเป็นขององค์กรจัดการทดสอบระดับชาติอย่าง สทศ. ยังต้องมีอยู่ แต่ถ้า สทศ. ยังปล่อยให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก ทำให้สังคมเสื่อมศรัทธา ที่สุดสังคมก็อาจตั้งคำถามจริงจังว่า "สทศ." สร้างประโยชน์ หรือสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติมากกว่ากัน ศธ. และ สทศ. ควรอาศัยวิกฤตนี้ สังคายนาระบบจัดสอบใหม่เพื่อเรียกความศรัทธา
รีบแก้ไข อย่ารอให้ถึงวันนั้นซึ่งอาจสายเกินแก้...
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิ.ย. 2559