เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริต ที่มี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ได้รับรายงานความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาทุจริตใน ศธ.จำนวน 611 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 170 เรื่อง รวมถึงได้รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาทุจริตภายในองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เรื่องชุดนักเรียนค้างอยู่ในคลังสินค้ากว่า 780,000 ชิ้น ตั้งแต่ ปี 2543 โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีนาย อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน ได้ทำบันทึกข้อความรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ให้ปรับปรุงรูปแบบการบริหารที่มุ่งประสิทธิภาพ และควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การสั่งซื้อ และการสั่งจ้างชุดเครื่องแบบนักเรียน
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า บันทึกข้อความดังกล่าว ระบุว่า ตามที่องค์การค้าฯ มีคำสั่งที่ 57/2559 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสินค้าคงเหลือของเครื่องแบบชุดนักเรียน 509,600 ชิ้น ในคลังสินค้า 2 ซอยสายลม คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้รายงาน ผลการสอบสวนข้อเท็จจริง และเข้าชี้แจงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ดังนี้ 1.นับ สินค้าคงเหลือของเครื่องแบบชุดนักเรียนในคลังสินค้า 2 ซอยสายลม โดยขอความร่วมมือจาก หน่วยงานทหารช่วยนับสินค้าคงเหลือของเครื่องแบบ ชุดนักเรียน มียอดคงเหลือ ณ วันที่ 24 เมษายน 2559 ทั้งสิ้น 446,390 ชิ้น 2.ทำหนังสือขอข้อมูลสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องแบบชุดนักเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักบริหารการเงินและบัญชี สำนักบริหารการตลาดและการขาย สำนักบริหารการผลิตและการพิมพ์ และหน่วยตรวจสอบภายใน ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการสั่งซื้อ สั่งผลิต เอกสารการขาย การเก็บสินค้าคงเหลือ และเอกสารอื่นๆ อาทิ เอกสารของสำนักบริหารการเงินฯ ลงนามโดยผู้อำนวยการ ที่ชี้แจงว่าได้จัดทำเอกสารนำเสนอข้อมูลต่อผู้บริหารไปแล้วในเบื้องต้นเป็นเครื่องแบบชุดนักเรียนที่องค์การค้าฯ ผลิตและจำหน่ายตรา "ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์" และตรา "S" ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2549-2550 ถึงปีการบัญชี 2557-2558 ซึ่งเป็นยอด เครื่องแบบชุดนักเรียน รวมทั้งที่อยู่ในคลังสินค้าและร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ทุกสาขา เป็นต้น
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า บันทึกข้อความยังระบุอีกว่า ตามคำสั่งที่ 57/2559 ลงวันที่ 18 เมษายน 2559 ที่ให้คณะกรรมการสอบสวนฯ มีอำนาจตรวจสอบเอกสาร สถานที่ รวบรวมเอกสาร หลักฐาน วัตถุที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับฟัง และบันทึกปากคำ พยานบุคคล พยานผู้เชี่ยวชาญ แล้วสรุปความเห็นเสนอต่อผู้อำนวยการองค์การค้าฯ เพื่อพิจารณานั้น คณะกรรมการสอบสวนฯ มีความเห็นโดยสรุปดังนี้ เห็นว่าในปี 2543 มีประเด็นดังนี้ 1.มีการสั่งผลิตชุดนักเรียนจำนวนมากกว่าปกติเป็นจำนวน 780,000 ชิ้น 2.ในปี 2543 มีการเปลี่ยนตราสินค้าจากตราศึกษาภัณฑ์มาเป็นตรา S ทำให้มีสินค้าตกค้างถึงปัจจุบัน 3.ในขณะที่มีชุดเครื่องแบบนักเรียนตราศึกษาภัณฑ์ตกค้างมาถึงปี 2543 ประมาณแสนกว่าชิ้น 4.มีการผลิตชุด เครื่องแบบนักเรียน และกำหนดขนาดของสินค้ามากกว่าปกติ เช่น มีขนาดใหญ่มากเกินหรือมีขนาดเล็ก มากเกิน ส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าคงเหลือ แสดงว่าเกิดการวางแผนการตลาดและการผลิตไม่มีประสิทธิภาพหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน"2.จากข้อมูล 3 ปีย้อนหลังจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้รับข้อมูลและ มีความเห็นว่าการบริหารงานด้านการตลาดและการผลิตขาดประสิทธิภาพดังนี้ การวางแผนการผลิต และจำหน่ายไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น วางแผนความต้องการของตลาดสูง แต่ยอดขายจริง มียอดที่ต่ำ และมียอดสะสมจากการผลิตคงเหลือทุกปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับแผนการผลิตและแผนการตลาด" ข้อความในบันทึกระบุ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.ควรปรับรูปแบบการบริหารที่มุ่งให้ประสิทธิภาพ มีการวางแผนการผลิต การตลาด กลยุทธ์การแข่งขัน เพื่อเพิ่มยอดขายและมีกำไร และมีจุดคุ้มทุนให้ชัดเจน และหรือ 2.ควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การสั่งซื้อ และการสั่งจ้างชุดเครื่องแบบนักเรียน เป็นเหตุให้ชุดเครื่องแบบนักเรียนคงเหลือ 509,600 ชิ้น ณ วันที่ 17 เมษายน 2559 รวมเป็นเงินมูลค่า 96,824,000 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 190 บาท ซึ่งเป็นราคาขายก่อนหักส่วนลด
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน